“นักศึกษาแพทย์” กับความกดดัน เหตุของโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

“นักศึกษาแพทย์” กับความกดดัน เหตุของโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

“นักศึกษาแพทย์” กับความกดดัน เหตุของโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องของโรคซึมเศร้า เราสามารถพบเห็นผู้ป่วยได้จากทุกเพศ ทุกวัย ทุกสายอาชีพ ทุกระดับฐานะ เพราะไม่ส่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน คุณก็อาจมีประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้าย บวกกับการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ที่ส่งผลให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ในเวลาต่อมา

แต่สำหรับ “นักศึกษาแพทย์” แล้ว เบื้องหลังการร่ำเรียนที่หนักหน่วง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตระหว่างการเรียนเต็มไปด้วยความกดดัน จนอาจทำให้นักศึกษาแพทย์หลายคนต้องจบชีวิตของตัวเองลงอย่างน่าเศร้า รวมไปถึงวงการแพทย์ที่ต้องสูญเสียบุคลากรในอนาคตที่มีคุณภาพไปอีกคนเช่นกัน

เฟซบุคเพจ จริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ กล่าวถึงเรื่องการฆ่าตัวตานจากโรคซึมเศร้า ของนักศึกษาแพทย์เอาไว้ว่า

“การฆ่าตัวตายพบในโรงเรียนแพทย์บ่อยกว่าโรงเรียนอื่นๆ

ในขณะที่นักเรียนแพทย์เรียนการไปดูแลรักษาช่วยเหลือปัญหาสุขภาพของคนอื่น พวกเขาเหล่านั้นกลับละเลย (ถูกละเลย) และหลงลืมที่จะดูแลตัวเองในด้านต่างๆทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การเรียนและงานที่หนักหน่วงทำให้อดกินอดหลับอดนอน เป็นปัญหาต่อร่างกาย ความกดดัน ความรับผิดชอบ การแข่งขัน ฯลฯ ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรืออาการซึมเศร้า เป็นปัญหาต่อจิตใจ ซึ่งล้วนนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ไม่พึงปรารถนา

หลายคนอาจไม่ทราบว่าในปัจจุบันการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุตายที่สำคัญในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งกว่านั้นยังพบว่านักเรียนแพทย์มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปในวัยเดียวกันถึง 3 เท่า สาเหตุก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกับการฆ่าตัวตายของแพทย์ คือนักเรียนแพทย์ถูกสอนให้เข้าใจว่าต้องแข็งแกร่ง การร้องขอความช่วยเหลืออาจถูกมองว่าอ่อนแอ และการมีปัญหาทางจิตในระหว่างเรียนอาจกลายเป็นตราบาป (stigmata) ทำให้อนาคตของพวกเขาไม่สดใส

ในสหรัฐอเมริกา สมาคมนักเรียนแพทย์อเมริกัน หรือ American Medical Student Association; AMSA (ชื่อย่อซ้ำกับ Asian Medical Students’ Association) ได้จัดให้มีโปรแกรมช่วยเหลือนักเรียนแพทย์ซึ่งครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางจิตใจด้วย หรือจะเป็นการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นแบบลับคือปกปิดตัวตน หรือจะขอนัดคุยต่อหน้าก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ในบ้านเราแม้บริบทจะไม่เหมือนในสหรัฐอเมริกา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัญหาด้านนี้ในนักเรียนแพทย์ของเราเช่นกัน นอกจากการพยายามสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีขึ้นในโรงเรียนแพทย์แล้ว อาจต้องมีการพัฒนาการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ให้กับนักเรียนแพทย์ ทั้งในระดับโรงเรียนแพทย์เอง (ซึ่งหลายแห่งมีบริการด้านนี้อยู่แล้ว) หรือความร่วมมือระดับองค์กรของโรงเรียนแพทย์ หรือแม้แต่องค์กรของนักเรียนแพทย์ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน”

ในขณะที่ หมอวิน จากเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ บอกเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์เอาไว้ว่า เคยถูกอาจารย์ใช้คำพูดบั่นทอนจิตใจไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

"แค่นี้ไม่รู้ ก็ไม่ต้องจบเป็นหมอ"

"ถ้าลอกแลปมันยากนัก ก็ไปตายเถอะ"

"ไปโดดตึกซะให้หมดทั้งกลุ่มเลยก็ได้นะ ถ้าตอบแบบนี้"

"อาจารย์ไม่อยากใช้คำว่า โง่ เลยนะ คิดเอาเองก็แล้วกัน"

"ผมบอกให้ออกไปจากวงราวด์! เดี๋ยวนี้! ฟังไม่ได้ยินเหรอ"

“เมื่อเช้ากินข้าวมาหรือเปล่า? หรือกินหญ้า?”

“คุณรู้จักเพนกวินไหม? ไปทีละคน เรียงตัวเลยนะ นำด้วยหัวหน้า แล้วโดดไปจากหน้าต่างทีละคนเลย”

ประโยคเหล่านี้บางคนอาจจะแก้ตัวว่าเป็นการฝึกความอดทน ฝึกให้รับมือกับความกดดันในแบบที่แพทย์ทุกคนต้องทำให้ได้ หรือที่หลายๆ คนได้ยินกันบ่อยๆ ว่า No pain, no gain (หรืออาจจะต่อด้วย No brain, more pain ด้วย) แต่อันที่จริงแล้วการใช้คำพูดลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็นการฝึกความอดทนอดกลั้น รับมือกับความกดดันจริงๆ หรือเป็นเพียงการทำร้ายจิตใจ และทำให้ได้อายต่อหน้าสาธารณชนกันด้วยคำพูดเท่านั้น

การที่เด็กคนหนึ่งต้องมาเจอกับเรื่องราวแบบนี้ อาจจะต้องแว่บไปหาต้นเหตุด้วยว่ามาจากไหน เขาเหล่านี้ไม่มีความสุขในการเรียนจากการเรียนการสอนอย่างเดียวหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมันเริ่มมาตั้งแต่การโดนบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่อยากเรียน

หมอมินบานเย็น จากเพจ เข็นลูกขึ้นภูเขา กล่าวเตือนพ่อแม่เอาไว้ว่า “ถึงพ่อแม่ที่รัก อย่าบังคับให้ลูกเรียนหมอ” เอาไว้ว่า

“…การเรียนแพทย์นั้นไม่ใช่เพียงแต่อาศัยความสามารถทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องมีความขยัน พยายามและอดทน เพราะการเรียนตลอด 6 ปี มีทั้งวิชาการ(ชั้นปรีคลินิค) และการเรียนกับคนไข้(ชั้นคลินิค) เรียนวิชาการก็หนัก และยังต้องมีการเรียนปฏิบัติ การอยู่เวรกลางคืน พักผ่อนน้อย ไม่เป็นเวลา และต้องเผชิญกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เพียงแต่คนไข้เท่านั้น แต่กับอาจารย์ กับเพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกัน มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องใช้ทักษะชีวิตในการฝ่าฟันไปมากมาย และเมื่อเป็นเรื่องของชีวิตคนต้องรับผิดชอบอย่างมาก ความเครียดที่เกิดขึ้นตามมาก็มากกว่าปกติเช่นเดียวกัน

มีงานวิจัยที่น่าสนใจออกมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตีพิมพ์ใน JAMA เรื่อง 'ความชุกของภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายในนักเรียนแพทย์' เป็นการศึกษาแบบ Meta-analysis รวบรวมมาจากงานวิจัยในประเทศต่างๆ จำนวนกว่า 200 งานวิจัย จาก 47 ประเทศ มีนักเรียนแพทย์เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 100,000 กว่าคน ปรากฎว่า พบความชุกของภาวะซึมเศร้าถึง 27.2% และความคิดทำร้ายตัวเอง 11.1%

งานวิจัยพบว่านักเรียนแพทย์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าประชากรทั่วไปที่จะมีภาวะซึมเศร้า 2-5 เท่า ในจำนวนเหล่านั้นมีไม่ถึง 1 ใน 5 ที่ได้เข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และยังพบอีกว่าแม้กระทั่งจบการศึกษาเป็นแพทย์และเรียนต่อเฉพาะทาง ก็ยังพบภาวะซึมเศร้ามากถึง 29% นั่นคือขนาดได้ปริญญาเป็นหมอเรียบร้อย ก็ยังไม่หายซึมเศร้า

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งผ่านความลำบากจาการเรียนไปได้สำหรับตัวหมอ คิดว่าจุดเริ่มต้น คือ "ฉันทะ" หรือความชอบ ถ้าชอบที่จะเรียน สนุกที่จะเรียน มีเป้าหมายว่าอยากเป็นแพทย์ชัดเจนด้วยตัวเอง เหนื่อยหรือหนักแค่ไหนก็เอนจอย (แบบที่หมอชอบที่จะเขียนเพจ ถามว่าเหนื่อยมั้ยที่ต้องนั่งเขียนอะไรทุกวัน ก็เหนื่อยบ้าง แต่มันรักที่จะเขียน อยากเขียนให้คนอ่านแล้วมีประโยชน์)

นอกจากความชอบ ก็คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง พ่อแม่ อาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อน

ถ้ามีความชอบ และมีกำลังใจจากตัวเองและคนที่รักและไว้ใจ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก ยังไงๆก็คงพอไปรอดได้

เพราะเหนื่อยกายไม่เท่าหนักใจ พักสักนิดไปต่อได้แน่นอน

แต่ถ้าพ่อแม่บังคับลูกตั้งแต่แรกโดยไม่เข้าใจและรับฟังลูก หมอคิดว่ายิ่งเสี่ยงที่จะทำให้นักเรียนแพทย์คนนั้นมีภาวะซึมเศร้า

ถ้าโชคดีหน่อย คือถูกบังคับมาแล้ว มาเปลี่ยนใจชอบเรียนตอนหลังได้ เปรียบเหมือนชายหญิงถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานกันแล้วรักกันทีหลัง ก็โอเค แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ปัญหามากมายเกิดตามมาอีกเป็นพรวน ก็คงคล้ายนักเรียนแพทย์ที่ลงเอยจนกระทั่งป่วยเป็นซึมเศร้า

สุดท้าย ไม่ใช่เฉพาะเรียนแพทย์ แต่พ่อแม่บังคับให้เรียนอย่างอื่นก็ไม่ควร คุยกันได้แนะนำชี้แนะได้แต่อย่ากดดันลูก มิฉะนั้นอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบทางลบ”

ดังนั้นถ้าจะให้แก้ปัญหานี้กันตั้งแต่แรก อาจจะต้องเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวที่ต้องเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่ลูกหลานเป็น ให้เขามีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตของตัวเองในทางที่ถูกที่ควร ไม่เดือดร้อนหรือเบียดเบียนใคร ไปจนถึงระบบการศึกษาของไทยที่ต้องเน้นในเรื่องของการเรียนจากความชอบ ความสนใจ ความถนัดของตัวเอง มากกว่าการเน้นเฉพาะคะแนนสอบที่ไม่สามารถวัดผลอะไรได้มากไปกว่าความรู้ที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประกอบอาชีพจริงๆ รวมไปถึงสังคมรอบข้างที่ต้องเลิกมองอาชีพบางอาชีพสูงส่ง และมีค่ามากกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะไม่ว่าอาชีพไหนก็มีความสำคัญต่อสังคมมากพอๆ กัน ขอแค่เพียงเป็นอาชีพที่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างสุจริต และร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าต่อได้

และเรื่องเหล่านี้ไม่ต้องรอให้ใครเริ่ม ทั้งหมดเริ่มได้ที่ตัวคุณเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook