อันตรายที่คาดไม่ถึงจากการทาน “อาหารเสริม” ผิวขาว-หน้าใส
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/2/10689/woman-supplements.jpgอันตรายที่คาดไม่ถึงจากการทาน “อาหารเสริม” ผิวขาว-หน้าใส

    อันตรายที่คาดไม่ถึงจากการทาน “อาหารเสริม” ผิวขาว-หน้าใส

    2018-04-23T16:16:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เป็นเรื่องที่ถูกหยิบขึ้นมาประเด็นอยู่เรื่อยๆ ตลอดปี เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารเสริมบำรุงผิว ที่อ้างว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวให้ขาวใสไร้สิว เปล่งปลั่งเป็นประกายจนทำให้ใครหลายคนที่อยากมีผิวสวยหันไปหาซื้อมาบริโภคกันมากมาย ยิ่งได้ผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมมาช่วยโฆษณาว่าทานตัวนี้แล้วดีได้ผลจริง คนก็ยิ่งแห่ไปซื้อทานตามกันจนไม่ทันได้หาข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาหารเสริมชนิดนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน

    กรณีล่าสุดเป็นคราวของอาหารเสริม เมจิกสกิน ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจพบว่าทำการผลิตอาหารเสริมโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการทำผลิตเองด้วยมือที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม >> กินอะไรลงไป? ภาพตีแผ่โรงงาน "เมจิก สกิน" เบื้องหลังอาหารเสริมชวนสะพรึง) ดังนั้นอันตรายจากอาหารเสริมบำรุงผิวขาวจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

     

    >> วิธีสังเกต อาหารเสริมสรรพคุณลวงโลก แบบไหนอันตราย?

     

    อันตรายจากการทานอาหารเสริมผิวขาว

    กลูต้าไธโอน เป็นส่วนผสมหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำไปใส่ในอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงให้ผิวขาวขึ้น อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงคุณสมบัติของกลูต้าไธโอนเอาไว้ว่า

    “(กลูต้าไธโอน) มีผลการศึกษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่บอกว่าช่วยทำให้สีผิวอ่อนลง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนสีผิวให้ขาว ดังนั้นในกลุ่มยารับประทานสำหรับรักษาโรคเลือด กลุ่มพวกนี้หากรับประทานในระยะยาวจะมีผลต่อตับ เส้นเลือดไม่แข็งตัว ทำให้เลือดออกตามผิวหนังได้ และให้ผลเพียงชั่วคราวเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการทำให้ผิวขาวนั้นอันตราย สารที่ทำให้สีผิวเปลี่ยนไปจะอันตรายมาก และไม่ถาวร”

    นอกจากกลูต้าไธโอนแล้ว คอลลาเจนในรูปแบบของอาหารเสริม ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยที่สามารถยืนยันถึงคุณสมบัติ และความปลอดภัยต่อร่างกายอย่างแท้จริง ดังนั้นผลลัพธ์ และความเสี่ยง อยู่ที่ตัวผู้บริโภคเองล้วนๆ เช่น อาการแพ้คอลลาเจนทำให้เกิดผื่นขึ้นที่ผิวหนังบริเวณใบหน้า แผ่นหลัง หรืออาจขึ้นเหมือนเป็นสิวหัวหนองขนาดใหญ่ เพราะอาจแพ้คอลลาเจนจากปลาทะเลน้ำลึก เป็นต้น

    สำหรับอาหารเสริมที่อ้างว่า มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสารเคมีปะปนระหว่างการผลิต ดังนั้นการที่เราทานอาหารเสริมติดต่อกันนานๆ อาจมีความเป็นไปได้ว่าเรารับเอาสารเคมีเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานเช่นกัน ซึ่งทำให้ตับทำงานหนักขึ้น เพื่อกรอง และคัดเลือกเอาสารอาหารที่จำเป็น และเกินความจำเป็นออก การทานอาหารเสริมมากเกินไปทำให้ตับทำงานหนักมากเกินไป จนอาจมีความเสี่ยงที่ตับและไตจะเสื่อม อักเสบ จนติดเชื้อในภายหลังได้

    สำหรับอาหารเสริมในรูปแบบของวิตามิน จากการทดลองในประเทศฟินแลนด์ โดยให้กลุ่มทดลองที่เป็นผู้ชายสูบบุหรี่รับเบตาแคโรทีนสังเคราะห์กลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งรับยาหลอก แล้วติดตามผลในระยะ 5-8 ปี ปรากฏว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดของกลุ่มที่รับเบตาแคโรทีนสังเคราะห์ มากกว่ากลุ่มปกติถึง 18% ดังนั้นจากผลการวิจัยครั้งนี้พิสูจน์ว่า การรับวิตามินสังเคราะห์มากเกินไปโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เสี่ยงเป็นพิษ เป็นโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจได้

    นอกจากนี้ การทานอาหารเสริมจากแหล่งผลิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และ/หรือผลิตจากงานวิจัยที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจน เราอาจกำลังเป็นหนูทดลองให้เขาอยู่ก็เป็นได้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย ผู้ผลิตเหล่านี้อาจไม่สามารถช่วยเหลือ หรือรับผิดชอบอะไรเราได้เลย

    >> ไขข้อสงสัย ทานวิตามิน-อาหารเสริม เสี่ยงมะเร็งมากขึ้นหรือไม่?

     

    ทานอาหารเสริมอย่างไรให้ปลอดภัย

    อันดับแรกควรถามตัวเองก่อนว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหนในการเลือกทานอาหารเสริมชนิดนั้นๆ หาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเสริมชนิดนั้นๆ ให้มากว่ามีแหล่งผลิตที่ไหน ได้รับมาตรฐานหรือไม่ มีงานวิจัยรับรองหรือเปล่า มีเลขฉลาก อย. หรือไม่ นอกจากนี้ดูที่ส่วนผสมของอาหารเสริมนั้นว่ามีตัวไหนที่ช่วยบำรุงผิวอย่างที่เราต้องการ หากสามารถเลือกทานวิตามินนั้นๆ เองเลยจะดีหรือไม่ เช่น อาหารเสริมที่โฆษณาว่ามีวิตามินซี น้ำมันอัฟนิ่งพริมโรส เราอาจซื้อวิตามินเหล่านี้มาทานเองได้ แต่ควรอ่านฉลากวิธีการทานให้ดี และควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทานวิตามินเหล่านี้ทุกครั้ง หากไม่แน่ใจว่าจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทานจะดีที่สุด

    >> ทานอาหารเสริมอย่างไร ไม่ให้ตับอักเสบ-ติดเชื้อในกระแสเลือด

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :หนังสือ “อย่าให้หมอฆ่าคุณ” สำนักพิมพ์ Nanmee Books (Adult),รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

    ภาพ :iStock