“ความรักของผู้สูงอายุ” เรื่องธรรมชาติหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ

“ความรักของผู้สูงอายุ” เรื่องธรรมชาติหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ

“ความรักของผู้สูงอายุ” เรื่องธรรมชาติหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวการวิวาห์ครั้งใหม่ของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 86 ปี กับ นส. อรทัย สรการ ยงใจยุทธ วัย 53 ปี กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเน็ตเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบิ๊กจิ๋วได้ออกมาเปิดใจถึงข่าวคราวดังกล่าวว่า ความรักครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อตนมีอายุมากแล้ว และจำเป็นต้องมีคนดูแล รวมทั้งตนได้หย่าขาดจากคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ มานานเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว ทว่าไม่ปรากฏเป็นข่าว

>> ฮือฮาทั้งวงการ "บิ๊กจิ๋ว" หย่าคุณหญิง ควงสาวแต่งงานหวานชื่นครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม เรื่อง “ความรักของผู้สูงอายุ” ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นเหล่าผู้อาวุโสที่เป็นคนดังในหลายวงการ ออกมาประกาศเกี่ยวกับความสัมพันธ์ครั้งใหม่อยู่บ่อยๆ และทุกครั้งก็มักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก “คนนอก” ถึงความไม่เหมาะสม บ้างก็ว่าอายุมากแล้ว ยังไม่ละกิเลส บ้างก็ไล่ให้ไปเข้าวัดแทน หรือแม้กระทั่งคิดแทนไปว่าคู่รักที่อ่อนวัยกว่าอาจจะหวังรวยทางลัด

แต่ที่จริงแล้ว การที่ผู้สูงอายุจะเริ่มความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตครั้งใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ และเป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า Sanook! Health จะพาคุณไปหาคำตอบจาก ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้และจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว

ผศ.ดร.วีรณัฐ ให้นิยามความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ในที่นี้ ว่าหมายถึง ผู้สูงอายุตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทว่าในปัจจุบันนี้ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ากว่าสมัยที่กำหนดให้บุคคลอายุเกิน 60 ปีเป็นผู้สูงอายุ ประกอบกับบุคคลก็มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ และการใช้ชีวิต ทำให้สุขภาพของคนในวัย 60 ที่ถูกเรียกว่าผู้สูงอายุทุกวันนี้นั้น อาจมีความแข็งแรงของร่างกายในเรื่องพื้นฐานเท่ากับคนอายุ 40 - 50 ปีในอดีต

แม้โดยทั่วไป ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพร่างกายผู้สูงอายุสามารถสืบค้นได้ง่าย และช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ในแง่ของจิตใจที่มีความละเอียดอ่อน ดูเหมือนเราจะมองข้ามไป โดยเฉพาะเรื่อง “ความรัก” ที่คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง และหารู้ไม่ว่าที่จริงแล้วผู้สูงอายุสามารถมีความรักได้ แต่จะมีรูปแบบและเหตุผลที่ต่างจากคนหนุ่มสาว

“จากประสบการณ์ที่ผ่านโลกมามากทำให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจในชีวิตรวมถึงความรักมากกว่าคนหนุ่มสาวที่น้ำหนักจะหนักไปทางด้านเพศสัมพันธ์ ส่วนความรักของผู้สูงอายุจะมุ่งไปด้านการเติมเต็มชีวิตให้แก่กันและกัน และในบางคู่อาจไม่มีน้ำหนักเรื่องของเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องเลยก็ได้ รวมถึงด้านกายภาพความต้องการทางเพศไม่มากเท่าอดีต”

“เหตุผลของความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยความต้องการการเติมเต็มในส่วนของชีวิตที่ขาดอยู่ โดยเฉพาะการเติมเต็มความรู้สึกว่ายังมีผู้ที่เห็นค่าของตน ขณะที่จำนวนมากต้องการเติมเต็มเชิงสังคม ทั้งเรื่องของชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน รวมถึงการเติมเต็มทางกายภาพ โดยเน้นไปที่การมีคนคอยดูแลซึ่งกันและกัน มากกว่าเรื่องของเพศสัมพันธ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเริ่มความสัมพันธ์นั้นเป็นในแบบคู่รักก็ได้ แต่เป็นคู่รักที่อยู่บนฐานของความเข้าใจ” ผศ.ดร.วีรณัฐกล่าว พร้อมเสริมว่า ความสัมพันธ์แบบคู่รักที่มีการดูแลกันและกันนั้น ยังแตกต่างจากการที่มีลูกหลานคอยดูแลอีกด้วย เนื่องจากจุดประสงค์ที่ต้องการให้ลูกหลานดูแล จะเป็นเหมือนการให้ลูกหลานได้แสดงความกตัญญู ก่อให้เกิดความอิ่มใจ ปลื้มใจ แม้จะเป็นการดูแลที่ไม่ถูกต้องตามหลักด้วยความไม่รู้ แต่ผู้สูงอายุก็ยังยินดีรับการดูแลนั้น เพราะเท่ากับเป็นการแสดงออกของลูกหลานว่ายังรักและห่วงใยตนอยู่ ในขณะที่คู่ชีวิตนั้นจะเน้นมาที่การดูแลทางกายภาพอย่างถูกต้องมากกว่า

ส่วนประเด็นที่หลายคนมักวิพากษ์วิจารณ์เมื่อมีข่าวความรักของผู้สูงอายุ คือเรื่องความต้องการทางเพศ โดยมองว่าผู้สูงอายุที่มีความรักอาจจะหมกมุ่นเรื่องเพศ และมองว่าเป็นความผิดปกติทางจิต แต่ ผศ.ดร.วีรณัฐ กล่าวว่า ความหมกมุ่นในเรื่องเพศขึ้นอยู่กับคุณลักษณะทางกายและจิตที่ต่างกันของแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไป จะไม่รุนแรงเท่ากับวัยรุ่น และยังสามารถจัดการกับอารมณ์ทางเพศได้ดีกว่า

“โดยทั่วไป ทางกายภาพของผู้สูงอายุจะไม่มีเหตุกระตุ้นทางเพศรุนแรงเหมือนวัยรุ่น ผนวกกับวุฒิภาวะและหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามวัย ทำให้มีเรื่องอื่นที่สำคัญต่อชีวิตมากกว่าเรื่องทางเพศ นอกจากนั้น ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น ผู้สูงอายุจึงมักจะรู้เท่าทันความอยากต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ตกเป็นทาสของความใคร่เหมือนวัยรุ่น ได้เรียนรู้ผลกระทบในเรื่องของเพศ ทั้งยังได้เรียนรู้ถึงความสุขที่ประณีตกว่าอื่นๆ ด้วย จึงอาจตอบได้ว่า หากผู้สูงอายุยังมีความต้องการทางเพศในระดับสูงและผิดทำนองคลองธรรม ก็จัดเป็นความผิดปกติกับวัยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายถึงผู้สูงอายุจะไม่มีความต้องการทางเพศ เพียงแต่จะไม่มากและรุนแรงเท่าวัยรุ่น ทั้งยังจะสามารถจัดการควบคุมได้ดีกว่า

นอกจากเสียงวิจารณ์เรื่องความหมกมุ่นเรื่องเพศแล้ว ประเด็นที่ชาวเน็ตมักพูดคุยกันอย่างสนุกปาก โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุแต่งงานกับคู่ที่อ่อนวัยกว่าหลายปี คือเรื่องภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม ลามไปถึงตัวคู่สมรสที่อายุน้อยกว่า ที่ถูกมองว่าแต่งงานกับคนแก่กว่าเพราะหวังสมบัติ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ผศ.ดร.วีรณัฐ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงอยู่ ก็ไม่ต่างจากคนวัยอื่นๆ ที่ชื่นชมความสดชื่นของผู้ที่อ่อนเยาว์กว่า รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องความมั่นคงและวุฒิภาวะ ซึ่งทำให้คนอายุน้อยกว่าตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกับผู้สูงอายุด้วย

“ด้วยวัยทำให้ผู้สูงอายุมีความพร้อมทางฐานะ สามารถรักษาสุขภาพร่างกายได้ไม่ต่างจากวัยหนุ่มสาว และเมื่อมามองในมุมคู่วัยเยาว์ ทั้งฐานะบวกกับความเข้าใจโลกที่มาก สามารถเป็นที่พึ่งให้ได้ทั้งทางกายและใจ จึงทำให้ไม่แปลกที่คนอายุน้อยกว่าจะตกลงใจให้ผู้สูงอายุนำพาชีวิต ปัญหาที่จะมีคือด้วยธรรมชาติที่กำหนดความสามารถในการทำกิจกรรมทางเพศ จะก่อให้เกิดช่องว่างได้ง่าย เกิดความไม่พอดีของความต้องการได้ง่าย อันเป็นเหตุเสี่ยงให้เกิดความไม่งามขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของชีวิตคู่เป็นเรื่องของคนสองคนเป็นหลัก ดังนั้นหากแน่ใจในรากแห่งความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ ผศ.ดร.วีรณัฐ ยังสรุปว่า การที่สังคมมักมองคู่รักต่างวัยในทางไม่ดี จะเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวมมากกว่า เพราะแนวคิดเหล่านี้อาจมาจากความต้องการใช้วิธีกดผู้อื่นให้ต่ำเพื่อที่ตนจะสูง อันเป็นวิธีคิดที่นำอันตรายอย่างร้ายแรงมาสู่ทั้งผู้คิดและสังคม ดังนั้น การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจึงต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของคนในสังคมที่มองผู้สูงอายุว่ามีสารพัดข้อจำกัด มาเป็นมองผู้สูงอายุเหมือนคนวัยปกติ ตามสภาพจริงมากกว่าตัวเลขของอายุ ก็จะทำให้ช่องว่างของความเข้าใจในสังคมลดลง ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ มีศรีเท่าเทียมกับสมาชิกสังคมวัยอื่นๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook