จะทำอย่างไร? เมื่อเด็กโดนเพื่อนในโรงเรียนกลั่นแกล้งผ่าน Cyberbullying

จะทำอย่างไร? เมื่อเด็กโดนเพื่อนในโรงเรียนกลั่นแกล้งผ่าน Cyberbullying

จะทำอย่างไร? เมื่อเด็กโดนเพื่อนในโรงเรียนกลั่นแกล้งผ่าน Cyberbullying
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเด็กๆ ไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ปกครองตลอดเวลา เพราะเวลามากกว่า 50% อยู่ที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถเข้าคุ้มครอง ปกป้อง หรือทราบถึงทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ยิ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ที่มอบความสะดวกสบายต่างๆ ให้กับเราได้มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือไว้ใช้กลั่นแกล้งคนอื่นโดยที่เราจับตัวคนทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ด้วยจุดบอดในส่วนนี้เองที่ทำให้เกิดการ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งผ่านโลกไซเบอร์ (โลกอินเตอร์เน็ต) ขึ้นมา และมีผลกระทบต่อจิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคมมากกว่าที่คุณคิด

>> รุมจี้ ร.ร.ดังเมืองนนท์ตอบ กรณีนักเรียนคุกคามเพื่อนร่วมชั้น

พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กเจ้าของเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” แนะนำวิธีช่วยเหลือเด็กที่โดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ทั้งจากการกระทำโดยตรง และผ่านโลกอินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เพื่อเยียวยารักษาจิตใจของเด็ก และป้องกันการเกิดซ้ำกับเด็กคนอื่นๆ

____________________

ผู้ปกครองควรทำอย่างไรถ้าลูกหลานถูก Cyberbullying

  1. ผู้ปกครองควรพูดคุยและรับฟังลูกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจากการถูกกลั่นแกล้ง ให้ลูกรู้ว่าผู้ปกครองจะปกป้องและคุ้มครองลูกอย่างดีที่สุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะหยุดการกลั่นแกล้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก ผู้ปกครองควรตั้งสติให้ดี อย่าตระหนกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก

  2. อย่าพูดในทำนองที่ว่า การกลั่นแกล้งที่เกิดเป็นเรื่องเล็ก หรือพูดในลักษณะเข้าใจผู้กระทำการกลั่นแกล้งจนเหมือนแก้ต่างให้ผู้กระทำการกลั่นแกล้ง ตรงนั้นไม่ได้ทำให้ลูกสบายใจขึ้นแต่ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าผู้ปกครองไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของปัญหา

  3. ต้องเก็บหลักฐานของการกลั่นแกล้ง เช่น รูปภาพ ข้อความ บทสนทนาต่างๆ เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง หลักฐานต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้ในกระบวนการสอบสวนเรื่องราว เก็บรายละเอียดอื่นๆ เช่น สถานที่ ความถี่ของการกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ความเกี่ยวข้องของบุคคลที่สาม พยานรับรู้เหตุการณ์ ฯลฯ

  4. ผู้ปกครองควรติดต่อกับครูหรือผู้บริหารโรงเรียนให้รับทราบเรื่อง เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกัน เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โรงเรียน บรรยากาศในโรงเรียนที่ปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบและต้องอาศัยการช่วยเหลือของครูอาจารย์

  5. การจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งอาจต้องประชุมพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่กระทำการกลั่นแกล้ง ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนช่วยเหลือในการจัดการประสานให้

  6. ติดต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อการของความร่วมมือในการจัดการลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เพราะการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว

  7. ถ้ามีความจำเป็น และข้อสงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาทางสุขภาพจิต ควรให้ลูกได้รับการประเมินและดูแลรักษาทางจิตใจจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพราะเด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีอาการทางสุขภาพจิตได้บ่อยๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น

  8. ในกรณีที่มีการสงสัยว่าจะมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกายร่วมด้วย ควรแจ้งตำรวจ เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูก

 

ทางด้านของโรงเรียน ก็สามารถเข้าช่วยเหลือนักเรียนได้ ดังนี้

การป้องกัน

  1. ให้ความรู้กับครูและนักเรียนในเรื่องความรับผิดชอบในการใช้อินเทอร์เน็ตและรู้เท่าทันในเรื่องอันตรายจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต

  2. นักเรียนจำเป็นต้องทราบว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องที่ผิด มีกฎที่ชัดเจนว่านักเรียนที่กลั่นแกล้งคนอื่นเป็นการผิดระเบียบวินัยของโรงเรียน โรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันและจัดการอย่างจริงจังในเรื่องนี้และสื่อสารกับนักเรียนและครู รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนด้วย

  3. ในห้องเรียนมีการพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและรู้เท่าทันเพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเน้นในเรื่องการเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่กลั่นแกล้งกัน

  4. มีการร่วมมือกันเป็นทีมระหว่างครูและผู้ปกครองในการป้องกันอันตรายจากการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ เช่น จัดการอบรมให้ความรู้กับครูและผู้ปกครอง มีการพบปะระหว่างครูและผู้ปกครองเพื่อพูดคุยถึงเรื่องต่างๆของนักเรียนรวมถึงเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกด้วย

  5. สร้างบรรยากาศที่ดีในโรงเรียนเพื่อป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก การปลูกฝังเรื่องของความเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดในมุมมองของคนอื่นที่ถูกกลั่นแกล้ง

  6. มีช่องทางให้นักเรียนสามารถแจ้งเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ได้ เช่น โทรศัพท์สายด่วน อีเมล ข้อความทางเฟซบุ๊กเพจของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในโรงเรียน เป็นต้น

 

การจัดการเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์แล้ว

  1. มีความเข้าใจและรับรู้อาการและอาการแสดงเบื้องต้นเมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ เพราะบางครั้งนักเรียนไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเรื่องนี้ เช่น ปัญหาการเรียน อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ

  2. หากโรงเรียนทราบว่ามีเหตุการณ์การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์เกิดขึ้นกับนักเรียน สิ่งสำคัญคือต้องมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจริงจัง ทำให้เด็กที่ถูกกระทำรู้สึกว่าครูเข้าใจและเอาใจใส่ความรู้สึก และรับรู้ได้ว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือและทำให้เด็กมีความมั่นคงปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ

  3. สืบหาหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง เช่น รูปภาพ ข้อความ แจ้งให้นักเรียนที่ถูกกระทำว่า ก่อนที่จะลบข้อความหรือรูปภาพ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ให้บันทึกรูปหน้าจอให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักฐานของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้น บอกเด็กว่าอย่าเพิ่งลบทิ้งไปก่อน

  4. แจ้งให้ผู้ปกครองของนักเรียนที่ถูกกระทำ และนักเรียนที่กระทำการกลั่นแกล้งทราบเหตุการณ์ จุดประสงค์คือ ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเด็กให้ป้องกันไม่ให้การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นอีกในอนาคต

  5. สำหรับนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้ง ควรสังเกตและพูดคุยกับนักเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับฟัง และให้กำลังใจ ในกรณีที่สงสัยว่านักเรียนอาจมีภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่างที่อาจเป็นผลกระทบจากการกลั่นแกล้ง ควรแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับการประเมินช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

  6. สำหรับนักเรียนที่กระทำการกลั่นแกล้ง การควรจัดการให้เรียนรู้ผลของการกระทำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การลงโทษอย่างเดียว หลักการสำคัญคือ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเข้าใจผลเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ในกรณีที่จำเป็นควรให้เด็กไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินหาสาเหตุทางจิตใจหรือภาวะทางจิตเวชบางอย่างที่อาจต้องการการดูแลรักษาเฉพาะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook