อัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม คือโรคเดียวกันหรือไม่?

"สมองเสื่อม" กับ "อัลไซเมอร์" คือโรคเดียวกันหรือไม่?

"สมองเสื่อม" กับ "อัลไซเมอร์" คือโรคเดียวกันหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
รศ.พญ.ศิวาพร  จันทร์กระจ่าง
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

นับวันเราก็ยิ่งเจอผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม และ โรคอัลไซเมอร์ กันมากขึ้น หลายคนน่าจะเข้าใจอาการของทั้งสองโรคนี้เพียงแค่เป็นโรคของผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อม แต่จริงๆ แล้วทั้งโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์มีอะไรมากกว่านั้น Sanook! Health จึงขอนำความรู้จากวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มาฝากกัน

โรคสมองเสื่อม คืออะไร

โรคสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสื่อมของความจำ การคิดอ่าน การวางแผน ตัดสินใจการใช้ภาษา ทักษะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่เคยทำได้ตามเดิม และอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย  ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 พบถึงร้อยละ 60-70 ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์สมองเสื่อม

สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

สาเหตุของสมองเสื่อมที่พบบ่อยอันดับ 2 คือ

  • สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบในผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะผสมกันทั้ง 2 อย่าง

  • สมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน

  • สมองเสื่อมจากเซลล์สมองเสื่อมชนิดต่างๆ เช่น Dementia with Lewy bodies (DLB) หรือ fronto temporal lobar dementia (FTLD)

นอกจากนั้นประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่มีสมองเสื่อม เกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์, ขาดวิตามินบี 12, โพรงสมองคั่งน้ำ, ภาวะซึมเศร้า, ยาบางชนิดที่รบกวนการทำงานของระบบประสาท และดื่มเหล้าจัด เป็นต้น

อาการโรคอัลไซเมอร์แตกต่างจากอาการหลงลืมของผู้สูงวัยอย่างไร?

  • อาการหลงลืม เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ จะมีอาการหลงลืมในเรื่องราวที่พึ่งเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือหลงลืมความรู้ใหม่ แต่เหตุการณ์ในอดีตจะจำได้ดีและอาการหลงลืมนี้ จะรวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น งานแต่งงานแต่ถ้าเป็นผู้สูงวัย อาจจะลืมเรื่องชื่อหรือการนัดหมาย แต่มักจะนึกออกได้ในภายหลัง

  • การแก้ไขปัญหาและการวางแผน ผู้ป่วยจะพบความเสื่อมในเรื่องการวางแผน การทำงาน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต รวมไปถึงการบริหารจัดการเกี่ยวกับตัวเลขทั้งหลายและเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ อาจมีปัญหาเรื่องการบริหารบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นบางครั้งหรือเกี่ยวกับการเขียนเช็คเป็นบางครั้ง

  • การทำกิจกรรมในบ้าน ในที่ทำงานหรือการพักผ่อน ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถหลงทาง แม้จะเป็นสถานที่ ๆ เดินทางเป็นประจำ รวมไปถึงการทำงบดุล รายจ่ายประจำตัว หรือการเล่นเกมที่เคยเล่น ส่วนผู้สูงวัยอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านที่ยุ่งยาก อาทิ เช่น การปรับไมโครเวฟหรือการเปิดโทรทัศน์ที่มีโปรแกรมที่หลากหลาย 

  • การมองเห็นและการปรับระยะทาง ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะเริ่มมีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือ การกะระยะทาง ความแตกต่างของสี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการขับรถหรือ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัย ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ แต่สาเหตุจะมาจากโรคทางจักษุวิทยา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือการเสื่อมของม่านตา

  • ปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการเขียน ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกใช้คำพูด ซึ่งจะทำให้ขาดการเชื่อมต่อของประโยค จึงทำให้พูดไม่ประติดประต่อ หรือพูดไม่จบประโยคเนื่องจากหาคำที่เหมาะสมไม่ได้ บางครั้งก็จะทำให้หงุดหงิด เพราะหาคำพูดที่ถูกต้องไม่ได้ และหรือบางครั้งก็จะเรียกชื่อสิ่งของผิด ๆ เช่น เรียกปากกาเป็นดินสอ หรือแว่นตา เป็นนาฬิกา แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัย ก็อาจจะมีปัญหาในการหาคำพูดที่ถูกต้องบ้างเป็นบางครั้ง

  • การวางของผิดที่หรือหาของไม่เจอ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะวางของในที่ที่ไม่เคยวาง หรือไม่ถูกต้อง เช่น ใส่แว่นตาในตู้เย็น และลืมสนิท และไม่สามารถจะคิดย้อนกลับได้เลย และบางครั้งก็จะกล่าวหาว่าผู้ใกล้ชิดขโมยของไปเพราะหาไม่เจอ แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยอาจวางของผิดที่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถนึกออกได้ในภายหลัง

  • การตัดสินใจผิดพลาด ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะเริ่มมีการตัดสินใจผิดพลาดและเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดตัวเอง แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัย การตัดสินใจผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ไม่บ่อย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

  • การเข้าสังคมและการทำงาน ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะเริ่มเก็บตัวลดงานอดิเรกกิจกรรมทางสังคม แม้แต่กีฬาที่ชื่นชอบ เพราะไม่สามารถจะทำได้ดีแบบเดิม แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยบางทีอาจจะเก็บตัวเนื่องจากเบื่องาน เบื่อครอบครัว กิจกรรม ทางสังคม หรือมีปัญหาด้านสุขภาพทางกาย

  • การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และบุคลิกภาพ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระยะแรก ๆ และจะเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะซึมเศร้า มึนงง วิตกกังวล หวาดกลัว นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน โดยไม่มีสาเหตุซึ่งสามารถเกิดขึ้น ทั้งในที่บ้าน และที่ทำงาน แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยก็อาจจะมีสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือหงุดหงิดได้บ้าง ถ้ามีสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมที่ทำเป็นประจำถูกเปลี่ยนแปลง

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม

จากการประชุม Alzhimer’s Association International Conference 2017 (AAIC 2017) ที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาว่า ถ้าสามารถลดปัจจัยเสี่ยง  9  อย่างของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้  ก็จะสามารถป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 1 ใน 3 ของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว  ซึ่งจัดแบ่งออกตามอายุ ดังนี้  คือ

  • วัยเด็ก การศึกษาน้อยคือปัจจัยเสี่ยงจนถึงอายุ 15 ปี
  • วัยกลางคน ความดันโลหิตสูง,โรคอ้วน,โรคหูตึง
  • วัยผู้สูงอายุ โรคซึมเศร้า, โรค เบาหวาน, ไม่ออกกำลังกาย, สูบบุหรี่ และการไม่เข้าสังคม

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

สามารถจะทำได้ตั้งแต่วัยเด็ก ดังนี้

  1. มีการศึกษาที่เหมาะสมตามเกณฑ์
  2. รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดทั้งหลาย เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
  3. แก้ไขโรคหูตึง โรคซึมเศร้า ตั้งแต่วัยกลางคน
  4. ปรับปรุงการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง เช่น วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เดินเล่น รำมวยจีนรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นต้น
  5. การพูดคุยพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
  6. พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook