สัญญาณเตือนเข้าข่ายเป็น “โรควิตกกังวล”

สัญญาณเตือนเข้าข่ายเป็น “โรควิตกกังวล”

สัญญาณเตือนเข้าข่ายเป็น “โรควิตกกังวล”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นโรควิตกกังวล ร้อยละ 0.3 โดยคาดว่าทั่วประเทศไทย น่าจะมีประมาณ 140,000 คน ซึ่งโรควิตกกังวล คือโรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะพบว่ามีความวิตกกังวลและอาการอื่นๆ ต่อเนื่อง และอาการไม่หายไป หรืออาจมีอาการที่แย่ลงได้ในที่สุด โดยสาเหตุของโรควิตกกังวล มักเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และเกี่ยวกับพื้นฐานสุขภาพจิตของแต่ละบุคลด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคตามมาอีกหลายโรค

อาการโดยทั่วไปของโรควิตกกังวล

  • มีอาการใจลอย ตกใจง่าย รู้สึกตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ

  • ไม่สามารถอยู่ในความสงบหรือหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ

  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก

  • หายใจตื้น ใจสั่น ใจเต้นเร็วและแรง กระสับกระส่าย เจ็บหน้าอก ปากแห้ง

  • กล้ามเนื้อตึงเกร็ง โดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง มีอาการเหน็บชาที่มือและเท้า

  • มือเท้าเย็นหรือเหงื่อแตก มีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ

  • มีอาการสั่น ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย อ่อนล้าเหนื่อยง่าย

 

ประเภทของโรควิตกกังวล

  1. โรคกังวลทั่วไป

เช่น มีความเครียดหรือมีความกังวลมากเกินไปจากความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตุเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีสาเหตุที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการกังวลได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป จะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน อาการเด่นที่สำคัญคือ คิดฟุ้งซ่าน

  1. โรคแพนิค

คือภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อาการแพนิคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

  1. โรคกลัวการเข้าสังคม หรือโรคกลัวแบบจำเพาะ

คือมีภาวะกังวลรุนแรงมาก หรือมีความระมัดระวังตัวเกินเหตุ ในสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ ที่ต้องพบเจอตามปกติในชีวิตประจำวัน โดยความกังวลที่เกิดขึ้นมักเป็นความกลัวการตัดสินจากผู้อื่น หรือกลัวว่าจะเกิดความอับอายและถูกล้อเลียน สำหรับอาการกลัวแบบจำเพาะ ยกตัวอย่างเช่น กลัวความสูง หรือกลัวสัตว์บางชนิด ซึ่งจะกลัวในระดับที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้

 

วิธีควบคุมหรือบรรเทาอาการโรควิตกกังวลให้ทุเลาลง

  1. พักผ่อนให้เป็นเวลา

    หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้

  2. รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง

หากมีความจำเป็นต้องซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่างๆ ตามร้านขายยาทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

  1. ฝึกทำสมาธิ

ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักการปล่อยวาง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น หากรู้สึกว่าวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323

  1. ออกกำลังกายด้วยวิธีแอโรบิก

มีผลทำให้อาการสงบลงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าที่มากพอเพื่อนำมาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา

  1. สำหรับญาติหรือคนรอบข้าง ควรทำความเข้าใจ

ว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำหรือคิดมากไปเอง จึงควรเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ซึ่งสามารถรักษาได้และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิมได้

 

ภาวะแทรกซ้อน หากไม่ได้รับการรักษาในโรควิตกกังวลอย่างถูกต้อง

  1. โรคซึมเศร้า

เนื่องจากโรควิตกกังวลเป็นภาวะที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภาวะซีมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งมีอาการที่คล้ายกันคือ ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกกังวล

  1. มีแนวโน้มติดสิ่งเสพติดให้โทษ

เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้ โดยผู้ป่วยมักใช้สิ่งเสพติดเพื่อบรรเทาอาการเครียด วิตกกังวล หรือเพื่อทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งนี้โรควิตกกังวลยังสามารถทำให้ ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายต่ำ

  1. โรคร้ายแรงอื่นๆ

ด้วยโรควิตกกังวลทั่วไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคทางใจและทางกายตามมาอีกหลายโรค รวมทั้งยังเสี่ยงเกิดโรคทางกาย เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน ทั้งนี้ยังมีรายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าโรควิตกกังวล เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook