"โนโมโฟเบีย" กับอาการติดมือถือ มันเป็นยังไงกันนะ ?

"โนโมโฟเบีย" กับอาการติดมือถือ มันเป็นยังไงกันนะ?

"โนโมโฟเบีย" กับอาการติดมือถือ มันเป็นยังไงกันนะ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลองมาทดสอบกันหน่อยดีกว่าว่าหลายๆ คนเคยมีแบบอาการแบบนี้กันบ้างรึเปล่านะ ? เมื่อไหร่ที่เราต้องอยู่ห่างโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ได้ใช้มือถือเป็นเวลานานๆ มักเกิดความกังวล หรือเกิดความเคยชินที่เมื่อว่างปุ๊บเป็นต้องหยิบขึ้นมากดนั่นกดนี่ ดูนั่นดูนี่ปั๊บ พอไม่ได้เล่นไม่ได้จับนานๆ ก็จะรู้สึกโหวงๆ เหงาๆ อยู่บ่อยๆ หรือหากตื่นนอนลืมตาขึ้นมา หรือก่อนจะหลับตาลงนอนจะต้องหยิบสมาร์ทโฟนคู่กายขึ้นมาเล่นก่อน พยายามทำให้มันกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ที่ร่างกายขาดไม่ได้จนกลายเป็นการเสพติด ประเภทที่ต้องถ่าย ต้องอัป ต้องแชร์ภาพถ่าย แคปชั่นในทุกสถานการณ์การณ์ ถึงขนาดที่ได้ยินเสียงเตือน แต่หยิบขึ้นมาดูไม่ได้ก็จะรู้สึกกระวนกระวายใจคล้ายจะลงแดง อาการแบบนี้ทางการแพทย์เขาเรียกว่า "โนโมโฟเบีย (Nomophobia)" ไม่แน่ .. คุณอาจจะกำลังเป็นโรคนี้อยู่อย่างไม่รู้ตัวก็ได้นะ

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) คืออะไร ?

ชื่ออาการ โนโมโฟเบีย (Nomophobia) ย่อมาจากคำเต็มๆ ที่ว่า "no mobile phone phobia" เป็นศัพท์ที่องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร หรือ YouGov ได้บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 สำหรับใช้เรียกอาการที่เกิดจากความวิตก หรือความหวาดกลัวเมื่อต้องขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสาร และจัดให้อาการนี้อยู่ในหมวดของโรคจิตเวชที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล

หากเราต้องอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือใช้งานอยู่แล้วแบตเตอรี่เกิดหมดซะอย่างนั้น ทำให้ตัวเราเองรู้สึกกระวนกระวาย เกิดความหงุดหงิด หากเป็นในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าเข้าข่ายเป็นโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ในบางรายเมื่อมีอาการแบบนี้สะสมมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการเครียด เหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้ ซึ่งอาการของแต่ละคนก็จะหนักเบาไม่เท่ากัน แต่อาการโนโมโฟเบียนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ทั่วโลกจากการสำรวจ โดยมีจำนวนมากขึ้นเมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่การใช้ชีวิตประจำวันเป็นได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น 

อาการโนโมโฟเบียจะพบได้ในวัยรุ่น วัยทำงานมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากวัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นเกม จึงทำให้ต้องคอยอัปเดตข่าวสารกันอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องทำเป็นประจำก็จะมีอาการพะว้าพะวงกับการใช้โทรศัพท์ พบได้ในกลุ่มของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงนั้นมีนิสัยที่ชอบพูดคุยและสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมากกว่าผู้ชาย

พฤติกรรมที่ส่อว่าเข้าข่ายอาการโนโมโฟเบีย

  • หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา ชอบอัปเดตข่าวสารอยู่เป็นประจำ มักหยิบขึ้นมาดูบ่อยๆ ถึงจะไม่มีเรื่องด่วน

  • มักที่จะวางโทรศัพท์เอาไว้ใกล้ๆ ตัว และจะรู้สึกกังวลเมื่อต้องห่างมือถือ ส่วนใหญ่จะชอบพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา

  • ช่วงเวลาตื่นนอนมักจะหยิบมือถือขึ้นมาเช็กข้อความทันที ก่อนจะนอนก็ต้องเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนแล้วค่อยนอน

  • เมื่อเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์เข้ามา เราจะทิ้งภารกิจที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมดเพื่อไปเช็กข้อความ ไม่งั้นจะรู้สึกลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายใจ ไม่มีสมาธิ จนทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างอื่นต่อได้

  • กลัวโทรศัพท์มือถือหาย ถึงแม้จะอยู่ในที่ปลอดภัยก็ตาม

  • ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือขณะที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยอยู่เป็นประจำ อาทิ ทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขึ้นรถไฟฟ้า ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์

  • ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลยสักครั้ง

  • ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก

  • หากวางมือถือไว้ผิดที่ หรือหาไม่เจอก็จะรู้สึกเป็นกังวลและกระวนกระวายมาก

  • เชื่อว่าคนเหล่านี้ต้องเคยตั้งใจที่จะไม่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นสัก 1 ชั่วโมง แต่ก็ทำไม่ได้ เป็นหยิบขึ้นมาเล่นทุกที

โนโมโฟเบีย กับความเสี่ยงที่จะเกิดอีกสารพัดโรค

  • อาการทางสายตา : ความผิดปกติจะขึ้นสะสมภายหลังที่เราต้องจ้องหน้าจอเล็กๆ เป็นเวลานาน ทำให้สายตาเกิดอาการล้า ตาแห้ง พอนานเข้าก็จะทำให้จอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้

  • นิ้วล็อก : ความผิดปกติจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องใช้นิ้วจิ้ม กด หรือสไลด์หน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการนิ้วชา ปวดข้อมือ ไปจนถึงเอ็นข้อมืออักเสบ หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่านิ้วแข็ง กำแล้วเหยียดออกไม่ได้ จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที

  • หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ : ความผิดปกติจะเกิดขึ้นเมื่อนั่งผิดท่า หรือนั่งเกร็งเป็นเวลานานๆ เมื่อทำเป็นประจำก็จะติดเป็นนิสัย เมื่อหนักเข้าก็จะมีอาการปวดมากๆ เมื่อไปพบแพทย์ก็จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว

  • ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ : ความผิดปกติจะเกิดขึ้นก็เพราะคนส่วนเวลาที่เล่นโทรศัพท์มือถือมักจะก้มหน้าและค้อมตัวลง ทำให้คอ บ่า และไหล่เกิดอาการเกร็ง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่สะดวก หากทำเช่นนี้นานๆ เข้าก็จะทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมา

  • โรคอ้วน : ถึงแม้ว่าความผิดปกตินี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ แต่หากเรามีอาการติดมือถือขนาดหนัก เราก็จะนั่งเล่นมันทั้งวันไม่ยอมลุกไปไหน หากเป็นอย่างนั้นร่างกายก็จะไม่เกิดการเผาผลาญ อาหารที่เราทานเข้าไปก็จะกลายเป็นไขมันไปสะสมส่วนต่างๆ ของร่างกาย คราวนี้ก็จะได้เป็นโรคอ้วนอย่างสมใจ

แก้ไขยังไงเมื่อเริ่มใกล้ติดมือถือ ? 

  • หากรู้สึกเหงาๆ แนะนำว่าให้หาเพื่อนคุยแทนการเล่นโทรศัพท์ อาทิ เดินไปคุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรืออาจนัดกับเพื่อนให้ออกมาเจอกัน อย่าเลือกที่จะอยู่กับโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นอยู่ในโลกออนไลน์มากจนเกินไป

  • พยายามใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็น แนะนำให้หากิจกรรมอื่นทำทดแทน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ

  • ลองกำหนดให้ห้องนอนของตัวเองเป็นเขตปลอดโทรศัพท์มือถือ แล้วก็ต้องทำมันให้ได้ ถ้าทำเป็นประจำเราจะได้ไม่หยิบมือถือขึ้นมาเล่นทันที่ที่ตื่นนอน หรือหลับไปพร้อมกับมือถือที่เล่นก่อนนอน

  • ลองตั้งกฎว่าจะไม่จับมือถือในเวลาที่กำหนด อย่าง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาห่างโทรศัพท์มือถือให้มากขึ้น

  • หากคิดว่าอาการติดมือถือเริ่มหนักขึ้นและไม่สามารถอยู่ห่างมันได้ ควรจะไปปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งคนที่มีเป็นหนักมากๆ แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ซึ่งได้รับความนิยมในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลและมีอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเฉพาะตัว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีมือถือ

 

หากมองแบบผิวเผินก็คงจะคิดกันว่าการติดโทรศัพท์มือถือนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ใครจะไปรู้ว่าอาการที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ นี่แหละที่จะทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราได้ หากใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแบบไม่ระมัดระวัง ส่วนใครที่เข้าข่ายเป็น โนโมโฟเบีย แบบที่เรานำมาเนื้อหามาให้อ่านแล้วละก็ขอให้รีบเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันซะตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ไหนจะสุขภาพจิต ในจะอีกสารพัดโรคที่จะพาเหรดเข้ามาให้เราได้สัมผัส เชื่อสิว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook