รู้จัก "โรคติดเกม" เหตุเกิดจากความผ่อนคลายที่ได้มากเกินความจำเป็น

รู้จัก "โรคติดเกม" เหตุเกิดจากความผ่อนคลายที่ได้มากเกินความจำเป็น

รู้จัก "โรคติดเกม" เหตุเกิดจากความผ่อนคลายที่ได้มากเกินความจำเป็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไหร่ ต่างก็ต้องมีโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย นอกจากที่จะใช้ประโยชน์เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันแล้ว โทรศัพท์มือถือยังเป็นอีกหนึ่งห้องสมุด หรือโลกกว้างขนาดพกพา ที่เมื่อเราอยากค้นหาเรื่องไหน อยากรู้เรื่องอะไร เพียงกดเข้าไป คำตอบทุกอย่างก็จะถูกเปิดเผยให้เราได้เข้าใจในทันที อีกทั้ง โทรศัพท์มือถือก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราใกล้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงทีผ่านโซเชียลมีเดียและแอปพลิชันที่ผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของเรา หรือหากใครกำลังมีความเครียด โทรศัพท์มือถือก็ยังมีเกมให้เราได้ฝึกทักษะและผ่อนคลายไปกับมัน ดูๆ แล้วก็มีข้อดีมากกว่าข้อเสียซะอีก

นอกจากวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่ที่จะมีโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่แล้ว ทุกวันนี้พ่อแม่หลายคนก็เลือกที่จะซื้อโทรศัพท์ให้กับลูกๆ ที่อยู่ในวัยเด็ก เนื่องด้วยความสะดวกเวลาที่ติดต่อหากัน พกไปไหนมาได้ แต่รู้รึเปล่า ? หากครอบครัวไม่ได้สอนให้พวกเขาเข้าใจและรู้จักที่จะใช้มัน ไปจนถึงไม่แบ่งเวลาอย่างเป็นสัดเป็นส่วนเพื่อใช้งานแล้วละก็ พวกเขาก็เลือกที่จะผ่อนคลายไปกับการเล่นเกมแบบไม่หยุดไม่หย่อน จนเป็นเหตุให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่สภาวะการเป็น "โรคติดเกม" ได้ในที่สุด

ทำความรู้จักกับ "โรคติดเกม"

โรคติดเกม มีลักษณะของอาการที่เสพติดการเล่นเกมจนควบคุมไม่ได้ คนเหล่านี้นับว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ พวกเขาเลือกที่จะเล่นเกมเป็นอย่างแรกเมื่อตื่นนอนแล้วเล่นลากยาวไปจนกระทั่งเข้านอนแบบไม่สนใจที่จะทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมอย่างอื่น จนเป็นเหตุให้เกิดผลเสียและส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ที่ตนได้รับ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีมติบรรจุให้อาการผิดปกติในการเล่นเกม หรือการติดเกมลงไปในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า "International Classification of Diseases 11th revision (ICD-11)" ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต กลุ่มการติดสารเสพติดและการเสพติดพฤติกรรม โดยการติดเกมนี้จะมีอาการคล้ายกับการติดสุรา สารเสพติด หรือการพนัน

จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่า อุบัติการณ์ของการติดเกมตั้งแต่ 0.75 - 27.5% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ และเกณฑ์การประเมิน โดยช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมักจะเป็นช่วงอายุที่มีอุบัติการณ์สูงสุด ส่วนในบ้านเราพบว่า มีเด็กวัยรุ่นที่ติดเกมอยู่ประมาณ 15% ทั้งยังพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่ทั้งนี้ก็พบว่า เด็กผู้หญิงจะติดการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่าจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์

โรคติดเกม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ครอบครัว

ทุกวันนี้ลักษณะของครอบครัวในประเทศไทยเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว มีการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยการที่แต่ละครอบครัวเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นย่อมส่งผลให้การดูแลลูกเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พ่อ หรือแม่ไม่สามารถที่จะเข้มงวดและฝึกเรื่องระเบียบวินัยได้ดีเท่าที่ควร ที่สำคัญ พ่อ หรือแม่อาจไม่มีเวลาให้ จึงต้องเลือกสมาร์ทโฟนให้กับเขาพวกไว้ติดต่อ ไว้เล่น ไว้ผ่อนคลายทดแทน บางครอบครัวอาจเกิดความเข้าใจผิดว่า การที่ไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกนั้นจะทำให้ตามเพื่อนไม่ทัน ส่วนบางครอบครัวก็อาจมีความกดดันและความเครียดสูง ส่งผลต่อการดูแลลูก ทำให้เด็กต้องใช้เกมเพื่อผ่อนคลายอยู่ทางเดียว

พันธุกรรม

ใครจะคิดว่า "โรคติดเกม" นั้นจะสามารถติดต่อจากพ่อแม่มาสู่ลูกได้ผ่านพันธุกรรม จริงๆ แล้วในทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก หากตรวจแล้วพบความผิดปกติของสารเคมีในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดการรางวัล เนื่องจากปกติ คนเราจะมีความสุขได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะนอน กิน หรือการดูหนัง ฟังเพลง แต่ถ้าพบว่าสมองในส่วนการจัดการรางวัลมีความผิดปกติ ได้ทำกิจกรรมที่ตัวชอบแล้วแต่ยังไม่มีความสุข การเล่นเกมจึงเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้

โรคทางจิตเวช

ในทางการแพทย์พบว่า โรคจิตเวช เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยโรคเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมองในส่วนการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดการรางวัล ยกตัวอย่าง เด็กที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขามักไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตเท่าไหร่ จึงเลือกที่จะเล่นเกม หรือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น พวกเขาจะขาดความยับยั้งชั่งใจ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของตัวเองได้

เกม

ปัจจุบันนี้ เกมที่ถูกสร้างออกมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดมักจะเป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องน่าติดตาม มีวิธีการเล่นที่สนุก ทำให้ผู้เล่นติดงอมแงมได้ง่าย อย่าง การซื้อไอเทมต่างๆ เพื่อเลื่อนระดับการเล่น การใช้เงินเพื่อซื้อของในเกม ส่วนบางคนเวลาที่คุ้นเคยกับการเล่นเกมและเก่งขึ้นแล้ว จะทำให้เขารู้สึกเป็นผู้นำ มีคนนับถือ ทั้งยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นในเกมได้ แต่รู้รึเปล่านี้ว่านี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจที่ทำให้ดูดีเท่าไหร่นัก จริงๆ เราควรจะภูมิใจกับอะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมากกว่า เด็กบางคนมีนิสัยขี้อาย ไม่กล้าสื่อสารกับคนปกติ เมื่อไหร่ที่ได้เข้าสู่โลกออนไลน์ หรือได้สื่อสารผ่านตัวหนังสือ ผ่านเกม เด็กเหล่านี้จะมักสามารถสื่อสาร หรือแสดงออกตามความคิดได้ดีกว่า ทำให้พวกเขาหันไปพึ่งสื่อพวกนี้มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกของความจริง ยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ เกมที่ออกวางจำหน่ายมีหลากหลายมากกว่าในอดีต เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เด็กผู้หญิงก็หันมานิยมเล่นเกมมากขึ้น จากเดิมที่เด็กผู้ชายจะติดเกม ก็ทำให้เด็กผู็หญิงเข้าสู่สภาวะนี้ได้เช่นกัน

โรคติดเกม กับผลกระทบที่มีความหลากหลาย

  • ความสัมพันธ์ในครอบครัว : พบว่าเมื่อเด็กเข้าสู่สภาวะติดเกม ความสัมพันธ์ที่ดีของพวกเขากับคนในครอบครัวกลับลดน้อยลง เนื่องจากไม่มีเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

  • การเรียน : เด็กที่ติดเกมก็จะไม่มีสมาธิในการเรียน ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ไม่มีความสุขในการเรียน เพราะวันๆ มัวแต่คิดถึงเรื่องเล่นเกม จนท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การออกจากการเรียนได้

  • ปัญหาทางร่างกาย :
    • สายตา : เมื่อต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ จะทำให้ดวงตาเกิดความอ่อนล้า ตาพร่า ตาแห้ง รู้สึกไม่สบายดวงตา
    • กล้ามเนื้อและกระดูก : การนั่งเล่นเกมทั้งวันอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว อาทิ คอ ไหล่ ข้อมือ 
    • ปัญหาการนอน : เด็กที่มักใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน สัญญาณที่อยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้นจะเข้าไปรบกวนสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้หลับได้ยากและหลับได้น้อยลง
    • โรคอ้วน : เพราะการนั่งจดจ่อเล่นเกมอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวน้อยลง ตลอดจนได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเพื่อต้องการพลังงานมาใช้สำหรับเล่นเกม

  • อารมณ์ : เมื่อเด็กเล่นเกมมากจนเกินไป จะทำให้พวกเขาพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ ตื่นมาจะรู้สึกไม่สดชื่น งัวเงีย ประกอบกับความเครียดสะสมที่เกิดจากเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียน ไปจนถึงนิสัยส่วนตัวที่อาจหงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง ทั้งหมดล้วนส่งผลให้เด็กมีอารมณ์แปรปรวนและมีพฤติกรรมรุนแรงได้

  • ปัญหาทางด้านจิตเวช : เด็กที่ติดเกมมากๆ มักจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ชอบอยู่โดดเดียว จนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า เกิดความวิตกกังวล บางรายอาจใช้สารเสพติดและเกิดปัญหาพฤติกรรมด้านอื่นๆ ตามมา

โรคติดเกม รักษาได้อย่างไร ?

ถึงแม้ว่าในทางการแพทย์จะยังไม่พบวิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเกมได้ แต่ก็ยังสามารถที่จะทำจิตบำบัดได้โดยการปรับความคิด พฤติกรรม และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาลดการเล่นเกมลง รู้จักที่จะควบคุมความต้องการ นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการติดเกมได้ ที่สำคัญคือต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว และสร้างความเข้าใจให้กับเด็กไปจนถึงตัวครอบครัวให้เข้าใจถึงปัญหา เสริมสร้างความภาคภูมิใจในด้านอื่นๆ ทดแทน และร่วมมือกันช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เด็กกลับไปติดเกมซ้ำ เหมือนกับการกลับไปติดยาเสพติดซ้ำ คนในครอบครัวควรให้กำลังใจเพื่อให้เด็กกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง แต่หากพบว่าผู้ป่วยมีโรคทางจิตเวชด้านอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ซึมเศร้า สมาธิสั้น ชอบวิตกกังวลที่อาจเป็นอีกสาเหตุของการติดเกม ก็จำเป็นต้องรักษาควบคู่กัน อาจรักษาด้วยยา หรือวิธีบำบัดอื่นๆ เพิ่มเติม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook