10 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในผู้สูงอายุ

10 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในผู้สูงอายุ

10 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในผู้สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัยรุ่น หรือวัยทำงานเท่านั้น วัยสูงอายุก็เป็นอีกวัยหนึ่งที่พบอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่น้อย โดยเราจะเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อันตรายต่อร่างกาย และจิตใจไปไม่น้อยกว่าวัยอื่นๆ เช่นกัน


โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุใด?

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือ Late-Life Depression อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยอาจเป็นโรคซึมเศร้าที่เคยเป็นมาตั้งแต่ก่อนอายุ 60 ปีแล้ว หรืออาจเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากอายุ 60 ปีเป็นต้นมา

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป โดยอาจมีปัจจัยกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตต่างๆ เช่น

  • วัยหลังเกษียณ อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้ออกไปพบปะเพื่อนฝูง

  • หย่าร้างกับคู่รัก

  • สูญเสียบุคคลที่รัก เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน เพื่อนสนิท

  • อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว หรือญาติมิตร

  • โรคภัยรุมเร้า เช่น เบาหวาน หัวใจ ไต ตับ มะเร็ง สมองเสื่อม

  • หนี้สินที่สะสมมาตั้งแต่ตอนวัยทำงาน

  • ดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป

  • ขาดวิตามินบี 12


อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยอาจมีสัญญาณอันตรายที่สังเกตได้ ดังนี้

  1. อารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น จากที่เคยใจเย็น กลับใจร้อนมากขึ้น โกรธง่ายขึ้น ขี้บ่นมากขึ้น มีเหตุผลน้อยลง หรืออาจจะวิตกกังวลง่ายขึ้น

  2. หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมากๆ

  3. เบื่อง่าย เบื่อคนรอบตัว เบื่ออาหาร เบื่อตัวเอง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ 

  4. เริ่มไม่อยากดูแลตัวเอง ไม่อยากกินข้าว ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินยา ไม่อยากไปหาหมอ

  5. น้ำหนักลดจากการเบื่ออาหาร

  6. มีปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก หลับๆ ตื่นๆ นอนหลับไม่สนิท

  7. ความจำไม่ค่อยดี ความจำสั้น สมาธิสั้น

  8. พูดในประโยคทำนองว่า ตัวเองไม่มีค่า อยู่ไปก็ไร้ค่า อยากตาย ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว

  9. พูดน้อย ถามคำตอบคำ เก็บตัว ไม่อยากคุยกับใคร

  10. อ่อนเพลียอย่างไม่มีสาเหตุ


วิธีรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจผู้สูงอายุให้มากขึ้น และพาไปตรวจกับจิตแพทย์


วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า

  1. ชวนคุย ชวนทำกิจกรรมด้วยกันเรื่อยๆ เช่น ชวนทำอาหาร กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง

  2. เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารมีพิษในบ้านให้เรียบร้อย อย่าวางเกลื่อนกลาด หรือในที่ที่มองเห็นได้ง่าย

  3. ให้กินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ควรให้ผู้ป่วยปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดกินยาเอง

  4. พามาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook