อันตรายจากการ "แพ้นมวัว" หายได้หรือไม่?

อันตรายจากการ "แพ้นมวัว" หายได้หรือไม่?

อันตรายจากการ "แพ้นมวัว" หายได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นมวัวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมาย แต่ก็มีเด็กและผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่แพ้นมวัว เกิดอาการแพ้รุนแรงจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งหากรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันก็จะสามารถควบคุมอาการได้


อาการแพ้นมวัว

อาการแพ้นมวัวต่างกับภาวะขาดเอนไซม์ย่อยแล็กเทส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในนมวัว ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียตามมาหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหลาย ในขณะที่อาการแพ้นมวัวจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส

ในเด็กอ่อน อาการแพ้นมวัวที่พบได้มีทั้งเล็กน้อยจนถึงรุนแรง คือ ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง ไอ หายใจเสียงดังวี้ด หายใจลำบาก หน้าบวม และอาจมีอาการท้องเสีย มีเลือดออกช่องทวารหนัก ร้องจ้าไม่ยอมหยุด อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายไปก็ต่อเมื่อให้เด็กหยุดดื่มนมสูตรนี้เท่านั้น

ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการแพ้นมวัวและความรุนแรงของอาการในแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนแพ้ทันทีหลังการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ มักมีลมพิษ หายใจดังวี้ด หรืออาเจียน แต่บางคนอาจแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง โดยมีอาการอุจจาระเหลว อาจมีเลือดปน ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ช่องท้อง ไอ หายใจดังวี้ด น้ำมูกน้ำตาไหล มีผดผื่นคัน ซึ่งพบบ่อยบริเวณรอบปาก


อันตรายของการแพ้นมวัว

นมเป็นอาหารลำดับ 3 ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตได้ รองจากถั่วลิสงและถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ โดยอาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ทางเดินหายใจแคบลงจนปิดกั้นการหายใจ หรือคอบวมจนหายใจลำบาก หน้าแดง อาการคัน เกิดภาวะช็อกเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง ควรสังเกตตนเองหรือลูกว่ามีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมจากนมวัวหรือไม่ หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ แม้ว่าจะไม่ร้ายแรง ก็ควรไปพบแพทย์และทำการทดสอบ


สาเหตุการแพ้นมวัว

อาการแพ้จากอาหารทั้งหลายเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โดยคิดว่าโปรตีนจากนมเป็นสารอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นการผลิตสารแอนติบอดี้ชนิด Immunoglobulin E (IgE) ขึ้นเพื่อป้องกันร่างกาย ฉะนั้นครั้งต่อไปที่ร่างกายได้รับโปรตีนชนิดนี้ แอนติบอดี้ IgE จะเกิดปฏิกิริยาและส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่นๆ จนเกิดเป็นอาการแพ้

โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้มี 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้จากนมในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็ง และโปรตีนเวย์ซึ่งพบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว


การรักษาการแพ้นมวัว

วิธีเดียวที่จะช่วยป้องกันการแพ้นมได้คือ เลี่ยงการรับประทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนจากนมวัวทุกชนิด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่แพ้นมวัวอาจไม่แพ้นมที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น นมที่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผ่านการอบ หรือ โยเกิร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง

ในกรณีที่เผลอรับประทานอาหารจากนมวัวจนมีอาการแพ้ หากไม่รุนแรงมากอาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) หรือเซทิริซีน (Cetirizine) ส่วนผู้ที่มีอาการหายใจลำบากหรือเผชิญอาการแพ้รุนแรงอื่นๆ อาจจำเป็นต้องใช้การฉีดยาแบบฉุกเฉิน ด้วยตัวยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ซึ่งเด็กที่เสี่ยงมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ปกครองอาจต้องพกยาอิพิเนฟรินชนิดฉีดติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ที่แพ้นมวัวสามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต หรือนมแอลมอนด์ที่เปี่ยมคุณค่าทางสารอาหาร อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี หรือรับประทานอาหารอื่นๆ เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแล็ต หรือโยเกิร์ต ที่ไม่ผสมนมวัวได้

นอกจากนี้ แม่ที่ต้องให้นมลูกที่แพ้นมวัวต้องระมัดระวังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทุกประเภทไปด้วย เพราะโปรตีนจากนมวัวนั้นสามารถไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูกได้ การที่แม่ไม่อาจรับประทานนมวัวจึงเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียมและสารอาหารที่ควรได้รับจากนม แม่อาจทดแทนสารอาหารที่ขาดไปด้วยการรับประทานอาหารเสริม เช่น แคลเซียม วิตามินดี และวิตามินบี 2 และหมั่นรับประทานอาหารจำพวกบร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง และถั่วเหลืองมากๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook