อาการลำไส้ส่วนปลายอักเสบ สาเหตุ และอาหารที่ควรกิน-ควรเลี่ยง

“ลำไส้ส่วนปลายอักเสบ” อาการ และอาหารที่ควรกิน-ควรเลี่ยง

“ลำไส้ส่วนปลายอักเสบ” อาการ และอาหารที่ควรกิน-ควรเลี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรค “ลำไส้ส่วนปลายอักเสบ” เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและมีอาการต่าง ๆ ที่สร้างความทรมาน อาหารการกิน และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเป็นสาเหตุสำคัญของโรค สามารถรักษาให้หายได้ และลดความเสี่ยงได้เพียงการปรับอาหาร

>> "อั้ม พัชราภา" แอดมิทป่วยเป็นลำไส้ส่วนปลายอักเสบ เพื่อนซี้รีบเข้าเยี่ยม


โรคลำไส้ส่วนปลายอักเสบ คืออะไร ?

โรคลำไส้ส่วนปลายอักเสบ คือ ภาวะที่มีสาเหตุจากการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้ ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อโรค หรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน 

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในส่วนลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ


โรคลำไส้อักเสบฉับพลัน

อาการลำไส้อักเสบฉับพลัน เกิดจากการติดเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปน เช่น เชื้ออีโคไล โนโวไวรัส ซาลโมเนลลา ชิเกลลา ฯลฯ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกายผ่านระบบทางเดินอาหาร เช่น กินเห็ดพิษเข้าไป ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด แพ้สารอาหารบางอย่าง เช่น น้ำตาลแลคโตส กลูเต็น เป็นต้น


โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง 

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด แต่จากข้อมูลของ ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ให้ข้อมูลว่า เกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปกติ และคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น คล้ายกับ "โรคพุ่มพวง" ต่างกันที่โรคพุ่มพวงทำให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 2 โรคใหญ่ ๆ คือ

1. Crohn’s disease เป็นโรคลำไส้อักเสบที่เกิดในระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ตั้งแต่ปากถึงทวารหนัก แต่โดยมากมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น

สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะ คือ

  • ผนังลำไส้อักเสบบวมคล้ายฝี มีลักษณะตะปุ่มตะป่ำจนช่องภายในลำไส้แคบลง และอาจกลายเป็นลำไส้อุดตันได้

  • ผนังลำไส้อักเสบเป็นแผลลึกจนทะลุไปอวัยวะอื่นที่อยู่ติดกัน

  • การอักเสบกระจายทั่วไปในลำไส้


2. Ulcerative colitis 
เป็นโรคลำไส้อักเสบที่เกิดในลำไส้ใหญ่เท่านั้น

ลักษณะของโรค จะเกิดขึ้นเฉพาะที่ผนังลำไส้เท่านั้น และผู้ป่วยมักมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบ ตาอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น


อาการของโรคลำไส้ส่วนปลายอักเสบ

หากเป็นโรคลำไส้อักเสบฉับพลัน จะมีอาการดังนี้

  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่มีเลือดปน

  • ปวดมวนท้อง

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • มีไข้ต่ำ ๆ

  • ปวดศีรษะ

  • ปวดกล้ามเนื้อ หรือตึงที่ข้อ

  • อ่อนเพลียจากการถ่ายเป็นน้ำ

  • อาจเสี่ยงภาวะขาดน้ำได้

อาการทั้งหมด เกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่ชั่วโมง


อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • ท้องร่วง มักมีเลือดปนด้วย

  • ท้องเสียนานติดต่อกันหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์

  • ปวดบีบที่ท้อง

  • มีไข้

  • อ่อนเพลีย

  • น้ำหนักลด


ความแตกต่างระหว่างลำไส้อักเสบเฉียบพลัน และลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน - มักมีอาการอย่างเฉียบพลัน หลังจากที่รับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนภายในไม่กี่ชั่วโมง ถ่ายเหลวเป็นน้ำโดยไม่มีเลือดปน

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง - มักมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ อาจมีเลือดปน และมีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายวัน จนอาจเป็นถึงสัปดาห์ สาเหตุไม่สามารถระบุได้แน่ชัด อาจเป็นเพราะระบบคุ้มกันตัวเองทำงานผิดปกติ


พฤติกรรมการกิน ช่วยลดเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบได้

หากอยากลดความเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบ สามารถปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารได้ ดังนี้

  1. เลือกรับประทานที่ปรุงสุกจากวัตถุดิบที่สด ใหม่ สะอาด

  2. เลือกดื่มน้ำ และเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่สะอาด รวมถึงหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ไม่แน่ใจในความสะอาด

  3. ทำความสะอาดห้องครัว และอุปกรณ์ทำความอาหารทุกอย่างให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงแยกเขียงเนื้อสัตว์สด ผักดิบ และอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากกัน

  4. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่จะใช้มือสัมผัสอาหาร

  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ทุกชนิด


อาหารที่ควรกิน-ควรหลีกเลี่ยง เมื่อมีอาการของโรคลำไส้อักเสบ

อาหารที่ควรกิน

  • อาหารรสชาติอ่อน 

  • อาหารที่มีโพรไบโอติกส์ เพื่อช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร เช่น โยเกิร์ต (สูตรน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาล) เช่น โยเกิร์ต

  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และย่อยง่าย เช่น ไก่ (ไม่มีหนัง) เนื้อปลา รวมถึงไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ดี

  • น้ำดื่มสะอาด

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดสารอาหาร


อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • ผักดิบ เนื้อสัตว์ดิบ เพราะทำให้ย่อยยาก ลำไส้ทำงานหนัก 

  • เครื่องดื่มที่คาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

  • น้ำอัดลม โซดา เพราะเป็นการเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร 

  • อาหารที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน เช่น เนื้อแดง ชีส ขนมปัง นม อัลมอนด์ ลูกเกด ลูกพรุน ผักตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook