ทำไมบางคนถึงกลายเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” ?

ทำไมบางคนถึงกลายเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” ?

ทำไมบางคนถึงกลายเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสงสัยไหมว่าทำไมฆาตกรต่อเนื่องที่ดูเหมือนไม่มีเหตุจูงใจในการฆาตกรรมถึงก่อเหตุรุนแรงซ้ำซ้อนหลาย ๆ ครั้งได้ บางคนอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทอง แต่ก็ยังก่อเหตุอาชญากรรมได้อย่างเลือดเย็น และส่วนใหญ่ไม่มีท่าทีสำนึกผิด หรือสงสารเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเลยแม้แต่น้อย

คลิกเพื่ออ่านข่าว สมคิด พุ่งพวง ทั้งหมด


ประเภทของ “ฆาตกรต่อเนื่อง”

ข้อมูลจากเฟซบุคเพจ นิติจิตวิทยา ระบุว่า มีอยู่หลายทฤษฎีที่พยายามหาคำตอบ และคำอธิบายให้กับสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งหลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง และยังไม่มีทฤษฎีไหนที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน 100% แต่มีทฤษฎีที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่ 2 ทฤษฎีด้วยกัน ได้แก่

ทฤษฎีของ Holmes & Holmes 

จำเเนกฆาตกรต่อเนื่องเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ

  • นักฆ่าเคลื่อนไหว (spatial mobility killer): จำเเนกฆาตกรต่อเนื่องตามพื้นที่ที่เขาทำการฆ่า เช่น ทำการฆาตกรรมบริเวณใกล้กับเเหล่งที่ฆาตกรพัก หรือเดินทางไปฆ่าเหยื่อที่ต่างเมือง
  • นักฆ่าประสาทหลอน (visionary serial killer) : ฆาตกรต่อเนื่องที่มีปัญหาทางจิต ฆ่าคนเพราะเห็นภาพหลอน เสียงหลอน
  • นักฆ่าตามอุดมการณ์ (missionary serial killer): ฆาตกรต่อเนื่องที่มีอุดมการณ์เหนียวเเน่นทางศาสนา หรือ อุดมการณ์/ความคิดว่าคนบางกลุ่มสมควรตาย อาจจะเป็นโรคจิตหรือไม่เป็นก็ได้
  • นักฆ่าเพื่อผลประโยชน์ (comfort-oriented serial killer) : ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าคนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว (เเต่ก็อาจจะมีความเเค้น เกลียดชังมาผสม) เช่น เเย่งสมบัติในครอบครัว คู่เเข่งทางธุรกิจ เป็นต้น
  • นักฆ่าเพื่อความสุขทางเพศ (hedonistic serial killer): ฆาตกรต่อเนื่องที่มีความสุขในการฆ่าคน (พวกซาดิสม์) มักจะทรมานเหยื่อจนตาย มีการข่มขืนเหยื่อ มีการฆ่าหั่นศพ เเละ ในบางกรณีฆาตกรมีเพศสัมพันธ์กับศพด้วย
  • นักฆ่าเพื่ออำนาจ/ควบคุม (power/control) : ลักษณะจะคล้าย ๆ กับนักฆ่าเพื่อความสุขทางเพศ เเต่ให้ความสำคัญด้านเพศน้อย ฆาตกรประเภทนี้มีความสุขที่ได้เป็นเจ้าชีวิตเหยื่อ รู้สึกดีที่ได้มีอำนาจ เเละสามารถควบคุมเหยื่อให้ทำอะไรก็ได้ และมักจะทรมานเหยื่อจนตาย


ทฤษฎีจาก FBI's Behavioral Science Unit (BSU)
หรือ หน่วยพฤติกรรมศาสตร์ของ เอฟบีไอ

เเบ่งฆาตกรต่อเนื่องเป็น 2 ประเภท โดยเเบ่งตามลักษณะการฆาตกรรม เเละ สภาพของสถานที่เกิดเหตุ 

  • นักฆ่าเเบบเป็นระเบียบ (organized serial killer) : ฆาตกรต่อเนื่องประเภทนี้มีความฉลาด มีการวางเเผนการฆ่าเป็นอย่างดี มักจะเลือกทำการฆาตกรรมในต่างเมือง ไกลจากที่พักของตน ชอบทรมานเหยื่อให้ตายช้า ๆ ด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมมาเอง เเละมักจะเลือกเหยื่อให้ตรงตามลักษณะที่ตนต้องการ (เพศ อายุ ส่วนสูง) เช่น ฆาตกรต่อเนื่อง Ted Bundy ที่เลือกเหยื่อที่มีผมสีน้ำตาลคล้าย ๆ กับคู่หมั้นที่ทิ้งเขาไป นอกจากนี้ฆาตกรประเภทนี้ยังชอบท้าทายตำรวจ เช่น อาจจะทิ้งเงื่อนงำ หรือ เเอบทำลายหลักฐาน เพื่อให้ตำรวจหลงทาง ฆาตกรประเภทนี้มักจะเก็บชิ้นส่วนของเหยื่อไว้เป็นรางวัลด้วย สภาพที่เกิดเหตุมักจะเป็นระเบียบ เเสดงให้เห็นว่ามีการวางเเผนมาอย่างดี
  • นักฆ่าเเบบไม่เป็นระเบียบ (disorganized serial killer) : ฆาตกรต่อเนื่องประเภทนี้ ไม่ค่อยมีการวางเเผน หากมีโอกาสก็จัดการเลย ฆาตกรพวกนี้มักจะฆ่าเหยื่ออย่างรวดเร็ว เช่น ทุบหัวจนตาย เเทงจนตาย มักจะมีลักษณะการฆ่าที่ทำเกินกว่าเหตุ (เช่น ปกติหากเเทง 2-3 ครั้งเหยื่อก็ตายเเล้ว แต่ฆาตกรประเภทนี้จะเเทงประมาณ 6-8 ครั้ง) จากนั้นถึงจะทำการข่มขืนศพ หรือ มีกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ กับศพ ลักษณะสภาพที่เกิดเหตุมักจะยุ่งเหยิง เเละมีลักษณะของการต่อสู้ ดิ้นรน

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ทฤษฎีนี้ แม้ว่ายังใช้กันอยู่เเพร่หลาย เเต่ก็มีข้อจำกัดอยู่เยอะเหมือนกัน เช่น ทฤษฎีของ Holmes ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้หญิงได้มากเท่าไหร่ ส่วนของ FBI นั้น พบว่าฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่มีลักษณะผสมระหว่างเเบบเป็นระเบียบเเละไม่เป็นระเบียบ ไม่ค่อยพบฆาตกรต่อเนื่องที่มีลักษณะสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง

ทำไมบางคนถึงกลายเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” ?

  • ปัญหาทางจิต

ฆาตกรต่อเนื่องบางกลุ่ม มีอาการป่วยทางจิต เช่น โรค Conduct disorder – มีความผิดปกติในการเข้าสังคม ชอบทำร้ายคนอื่น ทรมานสัตว์ ทำผิดกฎกติกา หรือ เป็น psychopath, sociopath หรือ มีอาการประสาทหลอน (delusion / hallucination)

>> รู้จัก “ไซโคพาธ” (Psychopaths) อาการต่อต้านสังคมที่ "ฆาตกรต่อเนื่อง" หลายคนอาจเป็น

  • ปัญหาทางสังคม

ฆาตกรต่อเนื่องบางกลุ่ม เกิดมาในครอบครัวอยากจน เป็นลูกของผู้หญิงค้าบริการทางเพศ ถูกทำร้าย รังเเกตั้งเเต่เด็กจากเพื่อน หรือคนในครอบครัว กลายเป็นคนเก็บกด เกิดความโกรธเเค้นเเละต้องการเเก้เเค้น

  • ปัญหาทางเพศ

ฆาตกรต่อเนื่องบางกลุ่มมีจินตนาการทางเพศเเบบรุนเเรง (เช่น ข่มขืน เชือก โซ่ เเส้) เเละต้องการทดลองจริง ๆ พอได้ทำจริงกับเหยื่อเเล้วไม่มีใครจับได้ เลยเกิดความสนุก เเละต้องการทำซ้ำอีก โดยเพิ่มขนาดของความรุนเเรงไปเรื่อย ๆ

  • สัญชาติญาณดิบ

จากทฤษฎีวิวัฒนาการ พบว่า สัตว์เพศผู้มักจะเป็นฝ่ายล่าเหยื่อ เเละมักจะต่อสู้กันเองเพื่อเเสดงความเป็นใหญ่ สัตว์ที่อ่อนเเอกว่าก็เป็นเหยื่อของผู้ล่า ซึ่งก็เหมือนกับฆาตกรเลือดเย็นที่จ้องหาเหยื่อเพื่อเเสดงอำนาจ ความเป็นใหญ่ ควบคุมฝ่ายที่อ่อนเเอกว่า

  • ความผิดปกติทางสมอง

ความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) ที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เลือกระหว่างทำดี ทำเลว ควบคุมตัวเองไม่ให้ทำผิดกฎ เเละ ความผิดปกติของสมองส่วนกลีบขมับ (temporal lobe) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์โกรธ เเละ ความต้องการทางเพศ มีผลทำให้ผู้ป่วยที่มีความผิดทางสมองทั้ง 2 ส่วนนี้ มีโอกาสที่จะกลายมาเป็นนักโทษคดีข่มขืน หรือทำร้ายร่างกายทางเพศได้

  • Psychodynamics (ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์)

นักวิจัยพบว่าฆาตกรรมต่อเนื่องบางกลุ่มความรู้สึกเกลียดชีวิตตัวเอง เบื่อหน่ายกับความซ้ำซากจำเจเดิม ๆ จึงไปหาความตื่นเต้นใหม่ ๆ ด้วยการฆ่า ทรมาน หรือ ฆ่าข่มขืนผู้อื่น เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้น สนุก และ รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย หลังจากฆ่าคน

อย่างไรก็ตามไม่มีทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายได้หมดว่าฆาตกรต่อเนื่องเกิดขี้นจากอะไร ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป


ฆาตกรต่อเนื่อง จะกลับมาเป็นคนปกติได้หรือไม่ ?

บทความน่าสนใจจาก Robert L. Hale (1993) เสนอความคิดว่า คนเราสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นฆาตกรได้ เเละสามารถเรียนรู้ที่จะเลิกเป็นฆาตกรได้เช่นกัน

โดยที่ Hale ได้ศึกษาต้นตอของการก่อเหตุฆาตกรรมของฆาตกรต่อเนื่อง ฆาตกรต่อเนื่องเหล่านี้มีต้นตอความต้องการฆ่าคนอื่นมาจากความอัปยศอดสูที่เคยได้รับในวัยเด็ก หรือ มีความผิดหวังอย่างรุนเเรง เช่น Ted Bundy ที่ถูกคู่หมั้นทิ้งนั้นได้ตามฆ่าผู้หญิงผมสีน้ำตาลที่เหมือนอดีตคู่หมั้นของเขา Robert Hansen ตามฆ่าผู้หญิงวัยรุ่นหน้าตาดี เพราะเเค้นที่เคยถูกปฏิเสธตอนขอผู้หญิงเดท หรือ Ed Gein ที่เกลียดเเม่ตัวเองมากขนาดที่ฆ่าเเม่ตัวเอง เเละหญิงสูงวัยคนอื่นๆ เเละนำหนังตากเเห้งของพวกเขามาทำเป็นเสื้อกั๊ก

ซึ่งความเเค้นในอดีตนั้นกลายมาเป็นพฤติกรรมที่เกิดในปัจจุบัน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเเบ่งเเยกได้ว่าอะไรคือต้นเหตุของความกลัวในอดีต กับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกสุนัขร๊อตไวเลอร์กัดในอดีต อาจจะเกิดความกลัวต่อสุนัขทุกชนิดในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะสุนัขร๊อตไวเลอร์ตัวที่กัดเขาเท่านั้น อย่าง Ted Bunder ที่มีความเกลียดชังต่ออดีตคู่หมั้น ก็มองว่าผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายอดีตคู่หมั้นของตนนั้นเป็นอันตรายทุกคน

ลักษณะการรักษาที่ Hale ยกมา (ตามหลักการของ Alexander & French) คือ การให้ฆาตกรต่อเนื่องเหล่านั้นมาเผชิญหน้าต่อความกลัวในอดีต ในลักษณะของ exposure therapy (วิธีรักษาแบบให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่หลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป การรักษาเเบบนี้ มักจะใช้กับโรคความกลัว (phobia) ต่าง ๆ เช่น กลัวความสูง กลัวเลือด กลัวเเมงมุม) ซึ่งเขาคาดว่าน่าจะทำให้ความกลัว/ความเเค้นลดลง

เเต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีที่ Hale ยกมาก็มีข้อด้อยอยู่มาก เพราะเขาโฟกัสมากเกินไปกับปัจจัยของการเกลียดเเค้นในอดีต มากกว่าปัจจัยเกื้อหนุนอื่น ๆ เช่น ความสนุกที่ได้รับจากการฆ่าคน ความรู้สึกดีที่ได้ควบคุมคน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาที่ดีนัก ส่วนใหญ่ที่อเมริกา เเละเเคนาดาจะใช้วิธีจับขังคุกตลอดชีวิต เพราะเป็นกรณีที่ยากต่อการรักษาจริง ๆ ยกเว้นกลุ่มที่ทำการฆาตกรรมเพราะมีอาการป่วยทางจิต จะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook