“ยาปฏิชีวนะ” ใช้อย่างไร ไม่เสี่ยง “เชื้อดื้อยา”

“ยาปฏิชีวนะ” ใช้อย่างไร ไม่เสี่ยง “เชื้อดื้อยา”

“ยาปฏิชีวนะ” ใช้อย่างไร ไม่เสี่ยง “เชื้อดื้อยา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากไม่อยากเป็นโรคที่ใช้ยาถูก ๆ ไม่ได้ ต้องใช้ยาแรง ๆ แพง ๆ หรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาเหมือนคนอื่น ควรใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้อง ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าซื้อมากินเองเด็ดขาด


ยาปฏิชีวนะ คืออะไร ?

อ.นพ. นพดล วัชระชัยสุรพล หน่วยโรคติดเชื้อ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายเอาไว้ใน รายการ เกร็ดความรู้คู่สุขภาพ ของ ติดจอ ฬ.จุฬา ว่า ก่อนจะทำความรู้จักกับยาปฏิชีวนะ ขอแนะนำให้รู้จักกับคำใกล้เคียงอื่น ๆ

ยาฆ่าเชื้อ และ ยาต้านจุลชีพ เป็นยาที่เอาไว้ฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อโปรโตซัวต่าง ๆ 

ส่วนยาปฏิชีวนะ ส่วนมากเราหมายถึงยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก

หากไม่ได้ระบุว่าเป็นยาฆ่าเชื้อประเภทไหน โดยส่วนใหญ่เราจึงหมายถึง ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ยาปฎิชีวนะ ใช้รักษาโรคที่ติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้ เช่น โรคติดเชื้อจากไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น


ยาปฏิชีวนะ VS ยาแก้อักเสบ

ยาปฏิชีวนะ กับยาแก้อักเสบ ไม่เหมือนกัน โดยยาแก้อักเสบ หมายถึง ยาที่ช่วยลดอาการอักเสบ อาจเป็นยาสเตียรอยด์ หรือไม่ใช่สเตียรอยด์ก็ได้ แต่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด


อาการแบบไหน ควรใช้ยาปฏิชีวนะ

อาการที่พบได้บ่อย และมักสับสนว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ คือ อาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอ มีหลายลักษณะอาการ มาจากหลายสาเหตุ และยังมาจากเชื้อหลายชนิด เช่น หากเจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล มีไข้สูง อาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะเป็นอาการเจ็บคอที่ไม่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรีย

แต่หากเจ็บคอ แล้วมีอาการไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก อาจเป็นอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า “Strep” การติดเชื้อแบบนี้ อาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ ในยาชนิดเดียวกัน ยังมีการแบ่งขนาดของยาในการใช้แตกต่างกันไปในแต่ละโรค แต่ละอาการ แต่ละคนด้วย เช่น สำหรับเชื้อแบคทีเรีย Strep ต้องกินปริมาณน้อย แต่ติดต่อกันนาน 10 วัน คนที่ซื้อยากินเองอาจกินแค่ 2-3 วัน แล้วหยุดกินยาเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำ หรือมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อได้ ดังนั้นการซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง จึงเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยา


อันตรายจากการซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง

อาการเจ็บป่วยบางอย่าง เราอาจไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อชนิดใด การซื้อยาแก้อักเสบมากินพร่ำเพรื่อเอง จึงอาจเป็นการกินยาไม่ถูกโรค ไม่ถูกคน และยังอาจเสี่ยงกินยาไม่ถูกขนาดอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะรักษาอาการของโรคนั้น ๆ ไม่หายแล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหา “เชื้อดื้อยา” ที่อันตรายต่อสุขภาพในอนาคตอีกด้วย

แบ่งอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะเองออกเป็น 3 “ไม่” ได้แก่

  • ไม่หาย 

อาการของโรคที่เป็นอยู่อาจไม่หาย หรือไม่หายขาด

 

  • ไม่พึงประสงค์ 

 

อาจเกิดอาการที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นได้ เช่น แพ้ยา ที่มีอาการตั้งแต่ผื่นขึ้นเล็กน้อย มีผื่นรุนแรง ไปจนถึงช็อก และหากมีอาการรุนแรงมากอาจเสี่ยงเสียชีวิตได้ หรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ใจสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ

 

  • ไม่เหลือยา

 

หากเรากินยาปฏิชีวนะบ่อย ๆ แม้ไม่มีความจำเป็น ไม่มีเชื้อแบคทีเรียให้ฆ่า แบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายของเราเองอยู่แล้ว อาจเกิดอาการดื้อยา ทำให้หากมีอาการติดเชื้อในครั้งถัดไป เชื้ออาจจะดื้อยารุนแรง และทำให้การรักษาด้วยตัวยาเดิมไม่ได้ผล ซึ่งอาจจะต้องใช้ยาที่แรงขึ้น หรือใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งเสี่ยงที่จะรักษาไม่ได้หากมีอาการดื้อยาอย่างรุนแรงจริง ๆ มีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ในแต่ละปี พบคนไทยป่วย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสูงมากถึง 30,000-40,000 คนต่อปีเลยทีเดียว


ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไรถึงจะถูกต้อง

ให้ใช้หลักการ 3 ถูก ได้แก่

 

  • ถูกโรค

 

ต้องดูก่อนว่าโรคที่เป็นอยู่เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียอะไรหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

 

  • ถูกคน

 

แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียจริง แต่แต่ละคนมีสภาพร่างกาย โรค และอาการที่ไม่เหมือนกัน อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะรักษาโรคเดียวกันก็ตาม

 

  • ถูกขนาด

 

แม้ว่าจะเลือกใช้ยาให้ถูกกับโรค และถูกกับคนแล้ว แต่หากใช้ยาไม่ถูกขนาด ก็ไม่อาจรักษาโรคให้หายขาดได้ โดยเฉพาะยาบางชนิดที่จำเป็นต้องกินให้หมดตามจำนวนที่แพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้วก็ตาม เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียยังไม่หายสนิท และเกิดเป็นเชื้อดื้อยาได้ในภายหลัง

หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่อยากซื้อยารับประทานเอง ควรซื้อกับเภสัชกร และแจกแจงรายละเอียดอาการของโรคที่เกิดขึ้น เพื่อให้เภสัชกรจัดสรรยาที่ถูกต้องให้อย่างเหมาะสม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook