Computer Vision Syndrome อันตรายจากการใช้สายตาของคนติดจอ

Computer Vision Syndrome อันตรายจากการใช้สายตาของคนติดจอ

Computer Vision Syndrome อันตรายจากการใช้สายตาของคนติดจอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยเรียน วันทำงานอย่างเราๆ มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ทำงานทั้งวัน เล่นมือถือ ดูแท็บเล็ต โดยที่เราอาจไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาได้ เพราะเราอาจละเลยอาการผิดปกติที่อาจขึ้น เช่น ตาล้า พร่ามัว ตาแห้ง หรือในบางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

แพทย์หญิงชรัญญา แก้วไกรสร จักษุแพทย์โรคกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก ให้ข้อมูลดีๆ เอาไว้ใสรายการ Sanook Call From Nowhere ให้วันเรียนวัยทำงานอย่างเราได้อ่านกัน ก่อนที่อาการทางดวงตาจะรุนแรงจนต้องพบแพทย์


Computer Vision Syndrome คืออะไร?

Computer Vision Syndrome คืออาการผิดปกติของดวงตาที่เกิดขึ้นจากการจ้องมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือมากเกินไป นานเกินกว่า 1-2 ชั่วโมงโดยที่เราไม่ปรับเปลี่ยนหรือขยับสายตาไปมองสิ่งอื่นเลย เมื่อเราจ้องเพ่งนานๆ ม่านตาเราจะหดเล็กลง กล้ามเนื้อจะกลอกไปมาตามที่เรามองตัวอักษรต่างๆ บนจอ รวมถึงภาพเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ การชมละครหรือซีรีส์เป็นระยะเวลานานๆ กล้ามเนื้อตาของเราก็จะทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับดวงตาได้


อาการของ Computer Vision Syndrome

อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ มีอยู่หลายลักษณะ เช่น

อาการที่เกิดขึ้นกับดวงตา

  • ปวดตา

  • ตาพร่ามัว

  • แสบตา

  • เคืองตา

  • ตาแห้ง

อาการที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ใกล้เคียง เช่น

  • ปวดกระบอกตา

  • ปวดศีรษะ

  • อาจลามปวดไปถึงบริเวณท้ายทอยได้


Work From Home เสี่ยง Computer Vision Syndrome มากกว่าทำงานปกติ

การทำงาน หรือเรียนออนไลน์ที่บ้าน อาจทำให้เราใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์นานมากกว่าปกติ เพราะเราไม่ได้ละสายตาจากหน้าจอเพื่อเดินทางไปทำงานตามปกติ ตื่นขึ้นมาแปบเดียวก็จ้องคอมพิวเตอร์แล้ว ดังนั้นเราจึงอาจจ้องคอมพิวเตอร์ และหน้าจออื่นๆ ในการทำงานนานกว่าเดิม จึงอาจเสี่ยง Computer Vision Syndrome มากกว่าการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือเดินทางไปเรียนตามปกติ


อาการผิดปกติมากขนาดไหน ควรไปพบแพทย์

อาการปวดตา เมื่อยล้าดวงตา ตามัว ตาพร่า อาจเป็นอาการชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจ้องมองหน้าจอนานๆ เมื่อหยุดใช้งานหน้าจอไป อาการที่เกิดขึ้นอาจหายไปด้วย

แต่หากใครที่พักสายตาออกจากหน้าจอแล้วยังมีอาการอยู่ เช่น ตาพร่ามัว เคืองตา แสบตา ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเร่งด่วน


วิธีถนอมสายตา เมื่อต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และมือถือนานๆ

  1. เลือกใช้แว่นสายตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาของเรา ใครที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยควรสวมแว่นที่เลนส์สามารถกรองแสงสีฟ้าได้ เพื่อช่วยให้มองหน้าจอได้สบายตามากขึ้น ตัดแว่นให้ค่าสายตาเหมาะสมโดยจักษุแพทย์ โดยเฉพาะวัย 40 ปีขึ้นไป ควรเลือกแว่นที่มีเลนส์ที่สามารถมองในระยะใกล้ได้ด้วย

  2. ใช้แผ่นกรองแสงวางทับหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงแผ่นฟิล์มติดอุปกรณ์ที่มีหน้าจอทั้งหมด เพื่อช่วงกรองแสงที่สว่างจ้าออกไปบ้าง หรือสามารถเลือกโหมดถนอมสายตาบนหน้าจอมือถือ และแท็บเล็ตได้

  3. กระพริบตาให้บ่อยขึ้น ป้องกันอาการตาแห้ง

  4. ใช้กฎ 20-20-20
    - ทุกๆ 20 นาที ให้ละสายตาออกจากหน้าจอ

    - ใช้สายตากันมองสิ่งของที่อยู่ไกลๆ มากกวา 20 ฟุต (เป็นต้นไม้สีเขียวได้ยิ่งดี)

    - ใช้เวลามองค้างไว้นาน 20 วินาที

ก่อนจะกลับมามองที่หน้าจอเหมือนเดิม และหลังจากจ้องหน้าจอมาทั้งวัน ควรมีเวลาพักสายตาบ้างด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น อาบน้ำ กินข้าว เดินเล่น ทำอาหาร ฯลฯ เพื่อลดการใช้สายตาจ้องเพ่งหน้าจอ

รับชมรายการ Sanook Call From Nowhere กับแพทย์หญิงชรัญญา แก้วไกรสร จักษุแพทย์โรคกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook