แพทย์ตอบข้อสงสัย "สูบบุหรี่" เสี่ยงติด "โควิด-19" มากน้อยแค่ไหน?

แพทย์ตอบข้อสงสัย "สูบบุหรี่" เสี่ยงติด "โควิด-19" มากน้อยแค่ไหน?

แพทย์ตอบข้อสงสัย "สูบบุหรี่" เสี่ยงติด "โควิด-19" มากน้อยแค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นอย่างรวดเร็ว หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เนื่องจากควัน หรือละอองไอของบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมาก ประกอบด้วยสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไกล

  • ข้อมูลจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกา ระบุว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า

  • ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือมอระกู่ ที่นิยมสูบกันในสถานบันเทิง ส่วนใหญ่มีการแบ่งปันหรือแชร์กันสูบ แม้จะใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสปากแยกกัน แต่ใช้กระบอกและสายเดียวกัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิค-19 ได้

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) สร้างความสูญเสียและตื่นกลัวให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงติดโรคง่ายและมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานภารกิจร่วมขององค์การอนามัยโลกและประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยภาวะหัวใจและหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงสูงและมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19


"สูบบุหรี่" เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019

พญ. ชนัญญา ศรีหะวรรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า นอกจากการสูบบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดอุดตันเรื้อรัง (COPD) ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง การสูบบุหรี่หรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นอีกด้วย เนื่องจากควัน หรือละอองไอของบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมา ประกอบด้วยสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไกล หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ตอบข้อสงสัยเรื่องบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ไว้ว่า ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19  เพิ่มขึ้น  เนื่องจากขณะสูบบุหรี่มือและนิ้วอาจมีเชื้อโรคอยู่ เมื่อสัมผัสกับริมฝีปาก ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้


บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 หรือไม่

นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังอาจส่งผลให้ผู้สูบมีภาวะโรคปอด หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ซึ่งทำให้ความจุของปอดลดลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

นอกเหนือจากบุหรี่แล้ว ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือมอระกู่ ที่นิยมสูบกันในสถานบันเทิง ส่วนใหญ่มีการแบ่งปันหรือแชร์กันสูบ แม้จะใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสปากแยกกัน แต่ใช้กระบอกและสายเดียวกัน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิค-19 รวมถึงไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ ในวงกว้างอีกด้วย 


ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่

ข้อมูลจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกา ระบุว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุอีกว่าไม่ใช่เฉพาะผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อ  แต่บุคคลรอบข้างที่ได้รับควันบุหรี่ (Secondhand Smoke) หรือควันที่ติดตามเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้นอีกด้วย

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ได้รายงานบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์จอนห์ วิลซัน (John Wilson) ประธานการแพทย์วิทยาลัยแพทย์แห่งออสเตรเลียและแพทย์ระบบทางเดินหายใจถึงผลกระทบร้ายแรงทั้งหมดของโรคปอดบวมในผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ความรุนแรงน้อยที่สุดคือผู้ที่มีไวรัส แต่ไม่มีอาการ

  • ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการไข้และไอเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัส แต่สามารถแพร่เชื้อได้

  • กลุ่มใหญ่ที่สุด ที่เป็นผลตรวจเชื้อไวรัสเป็นบวก หรือป่วยเป็นโรคโควิด-19 ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

  • กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง มักพบในผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี มีภาวะปอดอักเสบและการพัฒนาโรคขั้นรุนแรง มีแนวโน้มเสียชีวิต

ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง โดยเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) มักพบอาการไอ หายใจลำบากและหอบเหนื่อย เนื่องจากการติดเชื้อในระบบเดินหายใจส่งผลให้เกิดการอักเสบและสูญเสียความสามารถของปอดในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ่อนแอด้วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่ปอดไม่แข็งแรงเนื่องจากสูบบุหรี่เป็นประจำ การติดเชื้อจะลุกลามรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากอาการปอดอักเสบทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลถึงอวัยวะระบบอื่นๆ เช่น หัวใจ ไต ฯลฯ และอาจเสียชีวิตได้


คำแนะนำสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่และเป็นโรคปอดเรื้อรัง ในช่วงที่มีการระบาดของโรค โควิด-19

  • เตรียมอาหาร ยา และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพียงพอเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ในกรณีที่ไม่สบายหรือต้องการแยกตัวเอง

  • อยู่ห่างจากผู้ป่วยติดเชื้อ

  • งดเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกกรณี

  • หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน โดยเฉพาะสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น

  • งดการเดินทางไปต่างประเทศเด็ดขาด

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ครั้งละ 20 วินาที

  • อย่าสัมผัสปาก จมูกและดวงตา ด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง

  • หากเป็นผู้ป่วย ปรึกษาแพทย์และรับยาให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และอุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร

  • ติดตามข่าวสารการระบาดของโรคอย่างมีสติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

  • หลีกเลี่ยงการเสพข่าวมากจนเกิดความเครียด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook