ทำความรู้จัก "โรคกระดูกอ่อนในเด็ก" ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฟัน-กระดูก

ทำความรู้จัก "โรคกระดูกอ่อนในเด็ก" ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฟัน-กระดูก

ทำความรู้จัก "โรคกระดูกอ่อนในเด็ก" ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฟัน-กระดูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคกระดูกอ่อนในเด็ก เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเกิดความวิตกกังวล เพราะกลัวว่าลูกของตนจะเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน

บทความนี้ Hello คุณหมอ จึงพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับโรคกระดูกอ่อนในเด็กให้มากขึ้น ว่าจะมีวิธีการสังเกต และการดูแลลูกอย่างไรบ้าง

โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) คืออะไร

โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets)  เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินดี แคลเซียม หรือฟอสเฟต โดยแร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อการบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อนจะมีลักษณะกระดูกผิดรูป ฟันผุ และรู้สึกปวดบริเวณกระดูก

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเป็นโรคกระดูกอ่อน ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และที่สำคัญควรแลลูกอย่างใกล้ชิด เช่น รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดีและแคลเซียม รับแสงแดดยามเช้าเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี


ผู้ปกครองควรรู้ สาเหตุของโรคกระดูกอ่อนในเด็ก

สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเป็นโรคกระดูกอ่อนนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินดี โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • อายุ โรคกระดูกอ่อนในเด็กพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-36 เดือน ในช่วงนี้เด็กจะมีพัฒนาการเติบโตที่รวดเร็ว ร่างกายต้องการแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสเฟตมากที่สุดเพื่อนำไปเสริมสร้างสร้างกระดูก
  • การรับประทานอาหาร เด็กที่กินมังสวิรัติหรือได้รับสารที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารประเภท ปลา ไข่ นม และในร่างกายเด็กที่มีปัญหาในการย่อยนม หรือการแพ้แลคโตส (Lactose)
  • สีผิว เด็กที่มีสีผิวคล้ำ โดยเฉพาะเด็กที่มีเชื้อสายแอฟริกัน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคกระดูกอ่อน เนื่องจากสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกายได้น้อย
  • ที่ตั้งภูมิศาสตร์ ร่างกายของเราผลิตวิตามินดีขึ้นเมื่อถูกแสงแดด ดังนั้นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดน้อย จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกอ่อนมาก
  • พันธุกรรมหรือยีน หากสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคกระดูกอ่อน อาจถูกถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าวได้


สัญญาณเตือนโรคกระดูกอ่อนในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเข้าข่ายของการเป็นโรคกระดูกอ่อน ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษา โดยลักษณะอาการของโรคกระดูกอ่อน มีดังนี้

  1. ปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันผุ
  2. ความผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกหัก ปวดบริเวณกระดูก กล้ามเนื้อ กระดูกเชิงกราน ขา แขน


วิธีการรักษาโรคกระดูกอ่อนในเด็ก

โรคกระดูกอ่อนเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินดี การรักษาจึงมุ่งเน้นที่การเสริมวิตามินดีให้กับร่างกายผู้ป่วย ในเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกในเรื่องของการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียม เช่น อาหารประเภทปลา ตับ นม และไข่ รวมถึงการแนะนำให้ลูกได้รับแสงแดดอ่อนๆ บ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้เกิดกระบวนการสังเคราะห์วิตามินดี

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำวิตามินดีและแคลเซียมให้เด็กรับประทานเสริม โดยปริมาณอาจแตกต่างกันไปตามขนาดตัวของลูกคุณ หากพบว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกของตนเองให้ห่างไกลจากโรคกระดูกอ่อนได้ ด้วยการดูแลโภชนาการอาหารของลูกอย่างใกล้ชิด ให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมด้วยวิตามินดีและแคลเซียม รวมถึงการรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้า หากพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายต่อการเป็นโรคดังกล่าว ควรรีบพาลูกของคุณเข้าปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยโรคและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook