“เมื่อวัยเด็กของฉัน มันไม่โอเค” เรียนรู้ปัญหาสุขภาพจิตผ่านซีรีส์ It’s Okay To Not Be Okay

“เมื่อวัยเด็กของฉัน มันไม่โอเค” เรียนรู้ปัญหาสุขภาพจิตผ่านซีรีส์ It’s Okay To Not Be Okay

“เมื่อวัยเด็กของฉัน มันไม่โอเค” เรียนรู้ปัญหาสุขภาพจิตผ่านซีรีส์ It’s Okay To Not Be Okay
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซีรีส์เกาหลีที่พูดถึงเรื่องของปัญหาสุขภาพจิตอย่างชัดเจนในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นซีรีส์เรื่อง It’s Okay To Not Be Okay ที่ติดเทรนด์ Twitter ทุกครั้งที่ตอนใหม่ออกฉาย ปมปัญหาของแต่ละตัวละครค่อนข้างหนัก แต่น่าสนใจ และอาจมีบางส่วนที่ตรงกับชีวิตของเราทุกคนได้

หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา อธิบายถึงปัญหาของตัวละคร “โกมุนยอง” เอาไว้ได้อย่างละเอียด และน่าสนใจมาก ลองดูกันว่าเราเรียนรู้อะไรจากตัวละครนี้บ้าง เรื่องราวในชีวิตตอนเด็กส่งผลถึงชีวิตของเราในวัยผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง

 

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์เรื่องนี้)



#เมื่อวัยเด็กที่ผ่านมาของฉัน_มันไม่โอเค

ในซีรีส์เรื่อง It’s Okay to not be Okay ซึ่งเป็นเรื่องที่บอกเล่าถึงตัวละครที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตในแง่มุมต่างๆ รวมถึงที่มาที่ไปของภาวะที่เป็นของตัวละครในเรื่องได้ค่อนข้างชัดเจนและทำให้เข้าใจได้

นางเอกของเรื่อง “โกมุนยอง” เป็นผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพและอารมณ์แปรปรวน เธอมักใช้อารมณ์เวลาทำอะไรโดยปราศจากเหตุผล โดยที่ไม่ค่อยคิดถึงใจเขาใจเรา มีความไม่มั่นคงทางจิตใจ เมื่อมีความสัมพันธ์กับใครก็รู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นใจ

มีตอนหนึ่งในซีรีส์ฉากเมื่อนางเอกยังเป็นเด็ก เธอมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง แต่เมื่อเห็นว่าเพื่อนสนิทของเธอก็ไปคุยเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ เหมือนกัน เธอรู้สึกไม่ชอบที่เห็นเช่นนั้น เธอจึงไปแกล้งคนอื่นๆ และข่มขู่สั่งให้เพื่อนๆ เหล่านั้น ห้ามมายุ่งกับเพื่อนสนิทของเธอ สุดท้ายคนอื่นๆ ไม่กล้ามาเล่นกับเพื่อนสนิทของเธอ นางเอกรู้สึกดี แต่ทว่ามันทำให้เพื่อนสนิทของเธอไม่พอใจและหวาดกลัว สุดท้ายก็เลิกคบกับเธอไป พฤติกรรมต่างๆ ที่นางเอกทำสร้างผลกระทบกับตัวเองและคนอื่นบ่อยๆ

ที่มาหรือสิ่งที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีบุคลิกและนิสัยอย่างที่เป็นในปัจจุบัน จริงๆ แล้วประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งทางชีวภาพ (พื้นอารมณ์ พันธุกรรม ระบบประสาทและสมอง ฯลฯ) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด รวมถึงการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมที่ได้ประสบพบเห็นมาทั้งชีวิต

ลองไปดูที่ลักษณะของการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่นางเอกเติบโตมา นางเอกพูดเรื่องราวในวัยเด็กถึงบ้านและครอบครัวไว้ในตอนหนึ่งว่า

“ฉันเกลียดบ้านหลังนี้มาก ก็พ่อเป็นบ้าที่นี่ ส่วนแม่ก็หายไป ไม่รู้ว่าตายไปแล้ว หรือแค่หายไปเฉยๆ มีแต่พ่อเท่านั้นที่รู้ ถ้าเกิดแม่กลับมาอีกครั้ง ฉันก็คงจะกลัวแม่ หายใจไม่ทั่วท้อง แต่ยังไงแม่ก็ยังเป็นแม่อยู่ดี”

วัยเด็กของนางเอกได้รับการเลี้ยงดูที่มีลักษณะไม่มั่นคงทางความผูกพัน แม่ของเธอมีนิสัยและบุคลิกแปรปรวนเอาแน่นอนไม่ได้ ตอบรับและปฏิเสธลูกตามอารมณ์อยู่เสมอ บางครั้งอาจจะรักหรือตามใจอย่างมาก แต่มีการข่มขู่หรือตำหนิรุนแรงตามอารมณ์ ขาดความใกล้ชิดเอาใจใส่อย่างเหมาะสม อย่างนางเอกที่เราเห็นในซีรีส์ แม่ห้ามนางเอกไม่ให้มีเพื่อนสนิท ไม่ให้เธอตัดผม ไม่ให้เธอไปสุงสิงกับใครๆ แม่ขาดการควบคุมตัวเองและทำตามใจตัวเองเสมอ ไม่นับรวมเหตุการณ์รุนแรงที่นางเอกเห็นว่าพ่อทำร้ายแม่ ต่อมาแม่ของเธอก็หายไปจากบ้าน และเธอเข้าใจว่าแม่ตายไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตมาตลอด ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเนื้องอกในสมองของพ่อด้วย ทำให้นางเอกเปรียบเหมือนเด็กที่ขาดที่พึ่งทั้งพ่อและแม่ในคราวเดียวกัน

นางเอกจึงเติบโตมาด้วยความรู้สึกที่มองเห็นความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของพ่อแม่ พ่อแม่ที่ทำร้ายเธอทางอารมณ์และจิตใจ ขนาดคนใกล้ชิดและรักที่สุดอย่างพ่อแม่ยังทำร้ายเธอได้ พ่อแม่กลายเป็นคนที่เธอไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกเช่นนี่ส่งผลให้เด็กเติบโตมาอย่างมีความสับสน อารมณ์ไม่มั่นคง ส่งผลถึงการมองคนอื่นรอบข้างว่า คนอื่นๆ ก็ไม่น่าไว้วางใจ มองโลกในแง่ร้าย ไม่เชื่อใจใคร

แม้แต่ตัวเอง จิตใต้สำนึกก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ขาดความภาคภูมิใจ คิดว่าเราคงไม่ดีพอที่จะได้รับความรักและเอาใจใส่จากใครๆ แม้บางคนเช่นนางเอก จะแสดงออกว่าตัวเองดีแบบนั้นแบบนี้ แต่ก็เป็นการแสดงออกเพียงฉาบฉวยภายนอก ลึกๆ เธอรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เหมือนในซีรีส์ที่มีคนเปรียบเธอว่าเป็นเหมือน กระป๋องเปล่าที่ไม่มีอะไรอยู่

อารมณ์จึงอ่อนไหวง่าย โกรธง่าย เจ้าคิดเจ้าแค้น และมีการควบคุมอารมณ์ที่ต่ำ ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นแบบมั่นคงได้ง่ายนัก เจอใครก็เข้าหาเพื่อยึดไว้เป็นหลัก มีพฤติกรรมเรียกร้อง ไม่มั่นคง บางคนที่เป็นมาก อาจมีลักษณะไม่เห็นอกเห็นใจใคร อาจจะละเมิดสิทธิ์คนอื่น ทำผิดศีลธรรมได้ (แต่หมอคิดว่านางเอกยังไม่เลวร้ายขนาดนั้น โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ในซีรีส์จะแสดงให้เห็นว่าเธอยังคิดถึงคนอื่นๆ อยู่)

สิ่งที่โกมุนยองโชคดีอย่างหนึ่งคือ เธอได้มาเจอกับพระเอกและพี่ชายพระเอกด้วย ที่เป็นคนดีและเข้าใจในสิ่งที่เธอเป็น ยอมรับในความไม่ค่อยโอเคนักของเธอ ทำให้เธอเริ่มที่จะเห็นใจตัวเองได้ เห็นใจคนอื่นเป็น คิดถึงคนรอบข้าง มีรอยยิ้มที่มาจากใจจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามที่หมอบอกไว้ว่า ไม่ได้มีเพียงปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดูอย่างเดียว ที่ทำให้คนคนหนึ่งมีแนวโน้มจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือบุคลิกภาพผิดปกติ ปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม พื้นอารมณ์ ชีวภาพ ก็มีบทบาทเช่นกัน

แต่เมื่อเรารู้ว่าการเลี้ยงดูอาจจะมีบทบาท คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเด็กๆ เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ควรเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดอย่างเหมาะสม

สำคัญคือคนที่เลี้ยงดูเด็กจะต้องมีความพร้อมทางจิตใจ มีภาวะอารมณ์ที่มั่นคง มีเวลาที่มีคุณภาพที่จะให้ความรักและเอาใจใส่เด็ก เด็กควรได้รับรู้ถึงความรักที่ปราศจากเงื่อนไขจากคนที่เลี้ยงดูและนอกจากความรักก็ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนลำบาก คนที่เลี้ยงดูมีความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติและตัวตนของเด็ก เข้าใจและรับฟัง เป็นที่พึ่งพิงทางใจให้เด็กได้

เมื่อเด็กเติบโตมาอย่างเหมาะสม ในเส้นทางชีวิตที่อาจจะไม่โอเคนัก มีอุปสรรคเข้ามากระทบกระเทือน ก็คงเปรียบดั่งต้นไม้ที่มีรากแข็งแรง หากเจอกับพายุที่โหมกระหน่ำก็ไม่หลุดโค่นได้ง่ายๆ

แม้ในบางวันที่ไม่โอเคนัก ก็คงผ่านพ้นไปได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook