สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร บริจาคอย่างไร

สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร บริจาคอย่างไร

สเต็มเซลล์ (Stem Cell) เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร บริจาคอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับผู้ป่วยบางราย แค่เลือดเป็นถุงๆ ที่เราบริจาคกันอาจไม่พอ เพราะพวกเขาอาจต้องการ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด อีกด้วย แล้วสเต็มเซลล์คืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร บริจาคสเต็มเซลล์แล้วเราจะเป็นอะไรหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบค่ะ

 

สเต็มเซลล์ คืออะไร?

สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ตัวอ่อนของโลหิตที่อาศัยอยู่ในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด

 

ใครที่ต้องการสเต็มเซลล์ในการรักษาโรค

ผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคต่อไปนี้

-         ธาลัสซีเมีย (โลหิตจาง)

-         โรคโลหิตจาง ชนิดที่เกิดจากไขกระดูกฝ่อ

-         มะเร็งเม็ดเลือดขาว

-         มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เป็นต้น

 

บริจาคสเต็มเซลล์ของเราให้ผู้อื่นแล้ว เราจะเป็นอะไรหรือไม่?

การบริจาคสเต็มเซลล์ สามารถทำได้เหมือนการบริจาคโลหิตทั่วไป โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคใดๆ เพราะร่างกายสามารถผลิตสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนของเก่าได้อย่างรวดเร็ว

 

คุณสมบัติของผู้ที่บริจาคสเต็มเซลล์ได้

1. เพศใดก็ได้ น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

2. อายุ 17-70 ปีบริบูรณ์ หากอายุ 17 ปีต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง หากเป็นการบริจาคครั้งแรก ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี

3. เคยบริจาคโลหิตมาก่อน และบริจาคอย่างสม่ำเสมอ

4. ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นไข้หวัด ท้องร่วงท้องเสีย

5. นอนหลับพักผ่อนเพียงพอในคืนก่อนวันบริจาค

6. ผู้หญิงไม่อยู่ในช่วงประจำเดือน

7. ผู้หญิงไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตร หรือทำแท้งในช่วงระยะเวลา 6 เดือน

8. น้ำหนักไม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ภายใน 3 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ

9. หยุดการทานยาต่างๆ เช่น แอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวดอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 3 วัน หรือหากเป็นยาแก้อักเสบหรือยาอื่นๆ ควรหยุดทานยามาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 วัน

10. ไม่เป็นโรคหอบหืด โรคผิวหนัง วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ

11. ไม่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ตับ ไต มะเร็ง ไทรอยด์ หรือโรคประจำตัวอื่นๆ

12. หากเคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ควรเว้นระยะไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ผ่าตัดเล็กไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

13. ไม่มีประวัติการใช้ยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ จะต้องเกิน 3 ปี และมีสุขภาพดี

14. หากเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ต้องเว้นระยะ 1 ปี

15. หากเคยเป็นมาลาเรีย ต้องหายเกิน 3 ปี หรือหากเคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อมาลาเรีย ต้องเว้นระยะห่าง 1 ปี

16. ต้องไม่ได้รับวัคซีนในระยะ 14 วัน และเซรุ่มต่างๆตลอด 1 ปี

17. ทิ้งระยะหลังจากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟันอย่างต่ำ 3 วัน

18. ก่อนบริจาคควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อย ไม่ต้องอดข้าวอดน้ำ แต่หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้ามขาหมู ของทอด ของหวาน แกงกะทิต่างๆ เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่าจะมีข้อกำหนดในการรับบริจาคเยอะแยะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริจาคเลือด ก็ถือว่าควรตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และอย่าโกหกเจ้าหน้าที่นะคะ อ่านเพิ่มเติม “5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือด

 

บริจาคสเต็มเซลล์อย่างไร

เราต้องลงทะเบียน แสดงความจำนงว่าจะบริจาคสเต็มเซลล์ก่อนค่ะ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเลือดในระหว่างที่เรากำลังบริจาคโลหิต เพื่อเก็บข้อมูลลักษณะเลือดของเราเอาไว้ก่อน เมื่อไรก็ตามที่มีผู้ป่วยที่สามารถใช้เลือดเราได้ มีข้อมูลเลือดที่เข้ากันได้ เจ้าหน้าที่จะเรียกเราเข้าไปขอเก็บสเต็มเซลล์เองในภายหลังค่ะ

โดยการเก็บสเต็มเซลล์ จะมีอยู่ 2 วิธีคือ

1. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านหลอดเลือดดำ

โดยเจ้าหน้าที่จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูก มากระจายตัวในกระแสเลือดก่อน จากนั้นจึงเริ่มเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดที่ไหลออกมาผ่านเส้นเลือดดำ แล้วจะนำไปแยกสเต็มเซลล์ออกจากเลือดผ่านเครื่องที่อยู่ข้างนอกอีกครั้งหนึ่ง

ใช้เวลาเก็บ : 3 ชั่วโมง

2. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านไขกระดูก

เจ้าหน้าที่จะใช้เข็ม และกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) โดยทำในห้องผ่าตัด หลังเก็บสเต็มเซลล์ผู้บริจาคอาจต้องพักฟื้นจนถึงวันรุ่นขึ้น และพักฟื้นต่อที่บ้าน 5-7 วัน

ใช้เวลาเก็บ : 2 ชั่วโมง

 

 

วันและเวลาทำการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

จันทร์-ศุกร์                                     เวลา           08.30 – 16.00 น.

เสาร์, อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์         เวลา           08.30 – 15.00น.

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ภาพประกอบจาก istockphoto

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook