“ขี้หู” ไม่มีประโยชน์จริงหรือ “แคะหู” จำเป็นหรือไม่?

“ขี้หู” ไม่มีประโยชน์จริงหรือ “แคะหู” จำเป็นหรือไม่?

“ขี้หู” ไม่มีประโยชน์จริงหรือ “แคะหู” จำเป็นหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่าทำไมตามโรงแรมหรือรีสอร์ทต่างๆ มักจะมีคอตตอนบัด หรือไม้พันสำลีไว้ให้ห้องน้ำให้กับแขกที่มาพักอยู่เป็นประจำ และหลายคนก็มักจะหยิบออกมาใช้ปั่นหูหลังจากอาบน้ำเสร็จกันเสียด้วย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อเป็นการทำความสะอาดหูไปด้วยในตัว ขณะที่หลายคนก็ติดนิสัยชอบแคะหู เพราะมีอาการคันหู หรือไม่ชอบให้มีขี้หูติดอยู่ 

รู้หรือไม่? ขี้หูมีประโยชน์ 

ขี้หูคือสารตามธรรมชาติ ผลิตจากต่อมผลิตขี้หูที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณช่องหู ซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์ที่ป้องกันแบคทีเรีย และเชื้อราไม่ให้เติบโตอยู่ภายในช่องหู 

ขี้หูจึงมีประโยชน์มากมายกว่าที่เราคิด

  • ให้ความชุ่มชื้นป้องกันผิวหนังภายในช่องหูไม่ให้แห้งจนเกินไป 
  • ดักเก็บฝุ่นละออง สิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอมจากภายนอก   
  • ซึมซับเก็บเซลล์ผิวหนังภายในช่องหูที่ตายไปแล้ว

รูหูทำความสะอาดตัวเองได้

เมื่อมีขี้หู ระบบกลไกการทำงานของช่องหูจะค่อยๆ ดันขี้หูออกมาด้านนอกโดยอัตโนมัติ ขี้หูจะค่อยๆ ถูกผลักเคลื่อนจากส่วนด้านในช่องหูออกมายังส่วนด้านนอกใกล้ทางออกของช่องหูการเคี้ยว  และการเคลื่อนไหวขากรรไกร เช่น เคี้ยวอาหาร หรือขยับใบหน้า จะช่วยให้เกิดกระบวนการของการทำความสะอาดตามธรรมชาตินี้ เมื่อขี้หูถูกผลักมาถึงบริเวณช่องหูด้านนอกมันก็จะแห้ง และเป็นผง และหลุดออกมาได้เองและทุกครั้งที่ล้างหน้าก็เป็นการทำความสะอาดขี้หูเหล่านี้ออกไปด้วย

อันตรายจากการแคะหู / ปั่นหู

การแคะหูอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นนอก ซึ่งประกอบไปด้วย ใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ ดังนี้ 

  • การบาดเจ็บของรูหู (Traumatic ear canal injury) รูหูมีแผล เลือดไหล มีอาการปวดบวม หูอื้อ

แนวทางการรักษา : ดูดเลือดที่ค้างในรูหู และอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาแก้ปวด

  • หูชั้นนอกอักเสบ (Acute otitis externa) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดตามหลังแคะหู 3-4 วัน มีอาการปวด รูหูบวม หูอื้อ มีน้ำหรือหนองไหลจากหู ถ้าเป็นมากการติดเชื้ออาจลุกลามไปบริเวณใบหูหรือบริเวณรอบๆได้

แนวทางการรักษา : ดูดหนอง และทำความสะอาดรูหู และใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอด ในรายที่อาการรุนแรงอาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดกินร่วมด้วย

  • แก้วหูทะลุ (Traumatic tympanic membrane perforation) เกิดจากการที่ไม้แคะทำอันตรายต่อเยื่อแก้วหูโดยตรง มักมีอาการหูอื้อทันทีหลังแคะหู ได้ยินเสียงก้องในหู อาจรู้สึกเหมือนมีลมออกหู อาจเกิดร่วมกับภาวะหูชั้นนอกอักเสบได้

แนวทางการรักษา : แพทย์จะทำการประเมินอาการบาดเจ็บของรูหู และเยื่อแก้วหู และรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบก่อน โดยทั่วไปแล้วรูทะลุสามารถปิดเองได้ถึง 90% แพทย์จะนัดดูอาการอย่างต่อเนื่อง และตรวจประเมินการได้ยิน   หากรูทะลุนั้นไม่ปิดเองภายใน 3 เดือน ร่วมกับมีการสูญเสียการได้ยิน หรือมีเสียงดังรบกวน แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อปิดแก้วหูต่อไป 

ขี้หูอุดตันต้องทำอย่างไร?

การใช้คอตตอนบัดทำความสะอาดช่องหูชั้นนอก โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเนื่องจากมีน้ำเข้าหูนั้นจะยิ่งกระตุ้นการสร้างขี้หู จึงมีปริมาณขี้หูที่ผลิตออกมามากขึ้น และยิ่งดันขี้หูในช่องหูให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ขี้หูจึงไปอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น  

หากสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน จนให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือปวดหูหน่วง ๆ  ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นขี้หูอุดตันจริงหรือไม่ หากพบว่าขี้หูอุดตัน แพทย์จะทำการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ, การคีบ หรือดูดหรือใช้เครื่องมือแคะขี้หูออกให้

ถ้าไม่สามารถเอาขี้หูออกได้  เนื่องจากขี้หูอัดกันแน่นมาก หรือเอาออกได้เพียงบางส่วน แพทย์จะสั่งยาละลายขี้หูให้ไปหยอด ได้แก่ โซเดียมคาร์บอเนต ซึ่งหลังจากหยอดหู จะทำให้ขี้หูในช่องหูขยายตัว และอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น ทำให้หูอื้อมากขึ้น ควรหยอดบ่อยๆ วันละ 7-8 ครั้ง เพื่อทำให้ขี้หูอ่อนตัวมากขึ้น และเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปหยอดยาละลายขี้หูประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนัดมาตรวจอีกครั้ง  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook