“ยาเคนมผง” คืออะไร ทำไมถึงมีฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงชีวิต?

“ยาเคนมผง” คืออะไร ทำไมถึงมีฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงชีวิต?

“ยาเคนมผง” คืออะไร ทำไมถึงมีฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงชีวิต?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญเตือน “ยาเคนมผง” ออกฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงชีวิตได้

รู้จัก “ยาเค”

สืบเนื่องจากกรณีมีวัยรุ่นเสียชีวิตจากการเสพยาเคนมผง นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เคตามีน (ketamine) เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการมึนเมา เพลิดเพลิน มีความสุข เกิดภาพเหมือนฝัน รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังล่องลอยอยู่ในอากาศหรือหลุดลอยออกจากร่าง

ฤทธิ์ของยาเคในระยะสั้นจะทำให้เกิดอาการหวาดระแวง จิตหลอน จำอะไรไม่ได้ ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนเป็นอัมพาตชั่วขณะ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาทางสมองเกี่ยวกับความทรงจำและสมาธิ มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้และปัญหาทางจิต กลายเป็นคนวิกลจริตได้

รศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาพิษวิทยา อาชีวเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าฝ่ายแพทย์ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ชี้แจงว่า ยาเค คือ สารเคตามีนที่ทางการแพทย์ใช้เป็นยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัด แต่พบว่ามีการใช้สารนึ้เป็นสารเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไปตามสถานบันเทิงและร้านอาหารตอนกลางคืน  

แต่ในช่วง 1 สัปดาห์หลังปีใหม่ที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวการใช้สารนี้ สูดดมยาทางจมูกแล้ว มีอาการรุนแรงทำให้หมดสติเฉียบพลัน ซึ่งกรณีนี้ทางการแพทย์ไม่เคยพบมาก่อน จึงคาดว่ายาเคที่ใช้อาจเป็นสูตรใหม่ผสมสารหลายอย่าง

ยาเคนมผง ส่วนผสมใหม่ ออกฤทธิ์แรงและอันตรายกว่าเดิม

ในปัจจุบันพบว่ากลุ่มวัยรุ่นนำยาเค ผสมกับสารเสพติดอื่นอีกหลายชนิด เช่น ยาไอซ์ เฮโรอีน ยานอนหลับ (โรเซ่) นำมาผสมกันจนมีลักษณะละเอียดคล้ายนมผงแล้วนำมาเสพ จึงถูกเรียกว่า “ยาเคนมผง” เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายทำให้ผู้เสพมีอาการรุนแรง ประสาทหลอน คิดว่าจะถูกทำร้ายเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท

อาการเมื่อเสพยาเคนมผง

สำหรับยาเคนมผง เป็นสารเสพติดชนิดใหม่จะทำให้มีอาการตั้งแต่หายใจลำบาก ใจสั่นมาก ชัก และหมดสติได้ 

อันตรายของยาเคนมผง

การเสพ “ยาเคนมผง” ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้เสพเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะเสพเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนี้พบผู้เสียชีวิตที่อาจเกิดจาการเสพยาเคนมผง จำนวนหลายหลาย ในบางรายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลข้างเคียงจากการเสพยาเคในฮ่องกง ไต้หวัน และจีน โดยทำให้มีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ที่เสพมีปัญหาเรื่องกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง โดยพบเด็กวัยรุ่นฮ่องกงจำนวนมากที่อายุเพียง 20 ปีที่มีประวัติการใช้ยานี้  ต้องใส่ผ้าอ้อมไปตลอดชีวิต เนื่องจากกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ถ้าจะรักษาจำเป็นจะต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อซ่อมแซมทางเดินปัสสาวะโดยเอาลำไส้ใหญ่มาซ่อม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก 

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาเสพติดทุกประเภทส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของผู้เสพ ยิ่งมีการใช้ร่วมกันหลายชนิดก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในยาเคนมผงมีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์รุนแรงหลายชนิด หนึ่งในส่วนผสมนั้นคือ เฮโรอีน ซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงในทางกดประสาท หากเสพเฮโรอีนมากเกินความต้านทานของร่างกาย อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงเสียชีวิตได้

ไม่ควรเสพยาเคนมผง และยาเสพติดทุกชนิด หากเกิดอาหารผิดปกติ ควรรีบส่งโรงพยาบาล

สำหรับผู้ที่เสพยาชนิดนี้ ควรทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้น และควรเลิกเสพ หากมีอาการผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับ ไม่ควรรอหรือรักษากันเอง เพราะอาจเสียชีวิตได้และไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที  หากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์มีข้อสงสัย สามารถรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์พิษวิทยาศิริราช โทร. 0 2419 7007 (ตลอด 24 ชั่วโมง)  ซึ่งทางศูนย์ฯ มีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้ และมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่คนไข้ได้รับเข้าร่างกายคือสารอะไร 

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ให้รีบพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงอันตรายที่อาจจะตามมา ทั้งนี้หากพบว่าบุตรหลายหรือคนใกล้ชิดมีการเสพยา ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 และหรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook