น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ชื่อคล้ายกัน แต่ต่างกันมาก

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ชื่อคล้ายกัน แต่ต่างกันมาก

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ชื่อคล้ายกัน แต่ต่างกันมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งวิตามินหรืออาหารเสริม แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ในทุกวัน อาหารเสริมและวิตามินจึงกลายเป็นทางเลือกของคนที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีชื่อของ “น้ำมันปลา” และ “น้ำมันตับปลา” รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยชื่อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนกันอยู่บ่อยๆ ว่าทั้งสองอย่างนั้นคือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สกัดจากคนละส่วน น้ำมันปลา (Fish Oil)

คือน้ำมันที่ได้จากการ สกัดส่วนของเนื้อ หัว หาง และหนังของปลาทะเล อาทิ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแซลมอน  ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กลุ่มโอเมกา 3 ที่ประกอบไปด้วยกรดสำคัญอย่าง EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้

น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil)

คือน้ำมันที่ได้จากการ สกัดจากตับของปลาทะเล อาทิ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ “วิตามินเอ” และ “วิตามินดี” ซึ่งล้วนเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สามารถพบได้ในอาหารต่างๆ โดยวิตามินเอ ได้จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผักต่างๆ  อาทิ ผักบุ้ง ตำลึง แครอท ส่วนวิตามินดีมีมากในตับและไข่แดง แต่ร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้จากการที่ผิวหนังได้รับแสงแดดนั่นเอง

ประโยชน์ก็ต่างกัน น้ำมันปลา

กรด EPA ที่อยู่ในน้ำมันปลา ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด, ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือดและหัวใจ เนื่องจากไปเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ, ลดความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติ รวมถึงมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบต่างๆ ในร่างกายได้

ขณะที่กรด DHA เป็นส่วนประกอบในเซลล์สมอง ประสาท และจอประสาทตา ซึ่งหากได้รับ DHA ในปริมาณที่มากพอ จะช่วยให้ความคิดและการจดจำดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าอาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า และโรคที่เกี่ยวกับความจำได้

น้ำมันตับปลา

เนื่องจากน้ำมันตับปลามีวิตามินเอสูง มีบทบาทสําคัญในการสร้างเยื่อบุผิวปกติและกระดูก รวมถึงการสร้างภูมิต้านทาน และช่วยให้มองเห็นในที่มืดหรือที่มีแสงสลัวได้ดี ซึ่งคนที่มีภาวะขาดวิตามินเอจะมีอาการแสดงทางผิวหนังและเยื่อบุตา โดยอาการจะเริ่มต้นที่ตา ได้แก่ อาการตาบอดกลางคืน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมอาจตาบอดได้

ในน้ำมันตับปลาก็มีวิตามินดีสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งมีบทบาทสําคัญในการช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารผ่านเยื่อบุลําไส้เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ วิตามินดียังมีความสําคัญต่อการสร้างกระดูกให้เป็นไปอย่างปกติด้วย

กินมากไปอันตราย น้ำมันปลา

ในกรณีต้องการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรรับประทานในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณมากเกินไป เพราะทำให้มีเลือดออกและเลือดไม่แข็งตัวได้ และหากมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ หรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับไขมันเลือด ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมด้วย

น้ำมันตับปลา

วิตามินเอและวิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หากได้รับวิตามิน 2 ชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้มีการสะสมและเพิ่มระดับวิตามินในเลือด จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับวิตามินที่สูงมาก และก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอในปริมาณมาก อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือทารกพิการแต่กำเนิดได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook