“กินแล้วนอน” ทำแล้วสบาย แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด

“กินแล้วนอน” ทำแล้วสบาย แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด

“กินแล้วนอน” ทำแล้วสบาย แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติแล้วกระบวนการย่อยอาหารของคนเราจะเริ่มย่อยอาหารตั้งแต่ในปากโดยการย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล (ย่อยโดยน้ำลาย) โปรตีนจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหาร จากนั้นอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วนจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็ก ซึ่งจะย่อยทั้งคาร์โบไฮเดรต (ในรูปของน้ำตาล) ย่อยโปรตีน และย่อยไขมัน สารอาหารจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก (กระบวนการย่อยอาหารจะสิ้นสุดที่ลำไส้เล็ก) ส่วนกากอาหารถูกส่งไปที่ลำไส้ใหญ่และดูดซึมสารอาหารที่เหลือจากลำไส้เล็ก

กว่าที่ร่างกายจะสิ้นสุดกระบวนการย่อยอาหารจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในท่านั่งหรือยืน เพราะอวัยวะทุกส่วนในระบบตั้งตรงตามร่างกาย ซึ่งจะย่อยอาหารโดยลำเลียงจากบนลงล่าง แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากินอาหารเสร็จแล้วนอนในช่วงที่ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สิ้นสุด อวัยวะจะอยู่ในแนวราบตามร่างกายแทน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาซึ่งอาจจะอันตรายกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ Tonkit360 จะมาเตือนว่าอันตรายที่ว่ามีอะไรบ้าง

  1. อาหารไม่ย่อย ท้องอืด

พฤติกรรมการกินแล้วนอนทันทีทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบย่อยอาหารจะใช้เวลาในการย่อยอาหารแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เมื่ออาหารยังย่อยไม่หมดก็จะเกิดตกค้าง หมักหมมจากนั้นจึงทำปฏิกิริยากันจนเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด เมื่อมีอาการท้องอืดก็จะทำให้เรานอนไม่สบายตัว ซึ่งจะไปรบกวนประสิทธิภาพในการนอนหลับได้

  1. กรดไหลย้อน

เมื่อเรากินอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยออกมาเพื่อย่อยอาหารที่เราเพิ่งกินเข้าไป ลองคิดภาพตามว่าปกติร่างกายจะย่อยอาหารโดยลำเลียงจากบนลงล่าง แต่ถ้าเรากินเสร็จกลับล้มตัวลงนอน อวัยวะจะอยู่ในแนวราบแทน ดังนั้น น้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ในบางรายอาจย้อนกลับขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ เกิดอาการระคายเคือง เนื่องจากน้ำย่อยมีฤทธิ์เป็นกรด จนทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก จุกเสียดแน่นท้อง ขมในลำคอ เรอเหม็นเปรี้ยว ซึ่งกรดไหลย้อยที่ว่านี้หากได้เป็นแล้วล่ะใช่ว่าจะรักษาได้ง่ายๆ จึงมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แถมยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร หรือโรคหลอดเลือดสมองด้วย

  1. นอนไม่หลับ

เป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากการภาวะท้องอืดหรือโรคกรดไหลย่อย เมื่อเรารู้สึกว่าท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย หรือแสบร้อนกลางอก ก็ย่อมทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ไม่สบายตัว ดังนั้นจึงไปรบกวนการนอนหลับ นอนหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งจะทำให้เรานอนหลับไม่เต็มที่หรือมีอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ ทุกระบบในร่างกายจะทำงานปั่นป่วนตาม เมื่อนั้นก็จะเกิดอันตรายอื่นๆ จากการนอนน้อยตามมาได้

  1. เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือมะเร็งหลอดอาหาร

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะเสี่ยงที่เป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังและอาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารนั้นมีผลโดยตรงต่อความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เมื่อระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร การดูดซึมสารอาหารจะมีปัญหา และส่งผลต่อภาวะความดันโลหิต และการรักษาระดับน้ำตาลกับคอเรสเตอรอล ส่งผลกระทบถึงระบบไหลเวียนโลหิต

เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตมีปัญหา ทำให้เลือดที่จะลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปทั่วร่างกายส่งไปได้ยากขึ้น อาจเกิดภาวะสมองขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน อาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง

ส่วนโรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นภาวะเสี่ยงที่เป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อน หากมีอาการเรื้อรังจากการที่น้ำย่อยไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร เกิดการระคายเคืองและอักเสบเรื้อรัง หากปล่อยไว้นานๆ จึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารนั่นเอง

  1. โรคอ้วน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคอ้วนเกิดจากการที่เรารับพลังงานจากอาหารมากเกินที่ร่างกายต้องใช้ ในขณะเดียวกันก็ขาดการออกกำลังด้วย เมื่อร่างกายไม่ได้ดึงพลังงานที่ได้ไปใช้ พลังงานก็จะสะสมกลายเป็นไขมัน โดยเฉพาะคนที่ชอบกินอาหารที่ให้พลังงานสูง ร่างกายก็จะสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ซึ่งการกินแล้วนอนทำให้ร่างกายแทบไม่ได้ขยับเขยื้อนเลย พลังงานที่กินเข้าไปจึงไม่ได้ถูกใช้ จึงทำให้อ้วนขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนลงพุงด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook