“เนื้องอกมดลูก” อันตรายที่ผู้หญิงวัยรุ่น-วัยทำงานมีความเสี่ยงทุกคน

“เนื้องอกมดลูก” อันตรายที่ผู้หญิงวัยรุ่น-วัยทำงานมีความเสี่ยงทุกคน

“เนื้องอกมดลูก” อันตรายที่ผู้หญิงวัยรุ่น-วัยทำงานมีความเสี่ยงทุกคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื้องอกมดลูก คืออะไร?

นพ.สันติ พงศ์ภัณฑารักษ์ แพทย์ชำนาญการด้านการผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท อธิบายไว้ในรายการ Sanook Call From Nowhere ประจำวันที่ 3 มี.ค. 2564 ว่า เนื้องอกมดลูก คือเนื้องอกที่งอกออกมาจากมดลูก โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกขึ้นอาจยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้ผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกมดลูกได้ไม่เท่ากัน

เนื้องอก VS ซีสต์

ตามปกติแล้ว เนื้องอก จะเป็นการเรียกลักษณะของเนื้อที่งอกออกมา เนื้องอกมดลูกอาจพบลักษณะที่คล้ายกับลูกชิ้น ต่างจาก ซีสต์ ที่เป็นลักษณะคล้ายถุงหรือลูกโป่งใส่น้ำ ภายในจะเป็นของเหลวมากกว่าเป็นเนื้อทึบๆ

ปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูก

  • อายุ จากการศึกษาพบว่า การเจริญเติบโตของเนื้องอกมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนในเพศหญิง ดังนั้นในวัยเด็กตั้งแต่ 0-12 ปีที่ยังไม่มีประจำเดือนจึงมีความเสี่ยงต่อเนื้องอกมดลูกต่ำมาก โดยวัยที่มีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ จะอยู่ราวๆ 25-40 ปี ที่มีอัตราการเป็นเนื้องอกมดลูกมากถึง 50%
  • กรรมพันธุ์ หากคุณแม่หรือพี่สาวน้องสาวเคยมีเป็นเนื้องอกมดลูก ก็อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ
  • อาหารการกิน การบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่มีสีแดง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน

ตำแหน่งที่พบเนื้องอกมดลูก

  • เนื้องอกในโพรงมดลูก จะทำให้มีอาการมีประจำเดือนเยอะผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนมาก มีบุตรยาก
  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก มีอาการเหมือนเนื้องอกในโพรงมดลูก แต่อาการที่เป็นจะน้อยกว่า
  • เนื้องอกนอกมดลูก ไม่ค่อยมีอาการที่ทำให้ทราบหรือสังเกตได้ ถ้าจะมีอาจเป็นอาการที่เกิดจากการไปรบกวนการทำงานของอวัยวะอื่นๆ นอกมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนอาจทำให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เนื้องอกไปเบียดลำไส้ อาจทำให้ถ่ายยาก หรืออาจไปเบียดเส้นประสาทหลังก้นกบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังช่วงล่างได้เช่นกัน

โดยเนื้องอกที่พบ หากยิ่งอยู่ใกล้ตรงกลางของมดลูกมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีอาการมากขึ้นเท่านั้น โดยไม่สนขนาดของเนื้องอก

อันตรายจากเนื้องอกมดลูก

  • อันตรายจากอาการที่เกิดจากเนื้องอก เช่น ประจำเดือนเยอะจนอาจเกิดอาการช็อก หรือโลหิตจางเรื้อรัง เนื้องอกใหญ่จนกดท่อไตจนทำให้ท่อไตและไตโป่ง หากเป็นนานๆ อาจทำให้ไตวายได้ด้วย
  • อันตรายจากเซลล์เนื้องอกเอง จากสถิติแล้วเซลล์ในเนื้องอกมดลูกจะมีอัตราที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายค่อนข้างต่ำ มีอัตราการเกิดมะเร็งจากเนื้องอกในมดลูกค่อนข้างต่ำ แต่หากพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ แพทย์อาจประเมินความอันตรายของเซลล์เนื้องอกได้ด้วยการตรวจและนัดพบเป็นระยะๆ รวมถึงการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ส่วนใหญ่เนื้องอกมดลูกมักไม่มีอาการ

หากเกิดเนื้องอกมดลูกในระยะแรกๆ มักไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ดังนั้นก่อนที่ก้อนเนื้องอกจะใหญ่เกินไป หรือทำอันตรายใดๆ กับมดลูกและอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียง ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจภายใน หรืออัลตร้าซาวนด์ประจำปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์

วิธีรักษาเนื้องอกมดลูก

การเลือกวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนจะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ลักษณะของเนื้องอก รวมไปถึงอาการที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย

  1. ใช้ยา ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาเนื้องอกมดลูกได้หายขาด แต่จะใช้ยาเพื่อรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น ยาที่ช่วยลดปริมาณประจำเดือน หรือยาแก้ปวดท้องประจำเดือน เป็นต้น
  2. ผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแต่ยังเก็บมดลูกไว้ หรือผ่าตัดเอามดลูกที่มีเนื้องอกออกไปเลย โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยในปัจจุบัน การผ่าตัดสามารถส่องกล้องที่ทำให้มีแผลเล็ก รักษาหายเร็ว

ผลกระทบจากการผ่าตัดเอามดลูกออกไปจากร่างกาย

ในบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเอามดลูกออกไปพร้อมเนื้องอก อาจมีความกังวลว่าจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของเราหรือไม่ โดยทั่วไปมดลูกเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่อุ้มทารก สำหรับคนที่ไม่คิดว่าจะมีบุตร หรือมีบุตรครบแล้ว มดลูกอาจไม่ได้เป็นอวัยวะที่จำเป็นอีกต่อไป สามารถนำออกได้โดยไม่ได้ส่งผลข้างเคียงใดๆ ต่อร่างกาย และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย เพราะมดลูกไม่ได้มีส่วนสร้างฮอร์โมน แต่เป็นรังไข่ที่สร้างฮอร์โมน ถ้าผ่าตัดมดลูกออกโดยรังไข่ยังอยู่ ฮอร์โมนก็จะยังปกติ

ดังนั้นข้อเสียข้อเดียวของการผ่าตัดเอามดลูกออกไปจากร่างกายคือ การไม่สามารถอุ้มท้องมีบุตรได้ด้วยตัวเองเท่านั้น

สำหรับคนที่ผ่าตัดเอามดลูกออกไป เหลือแต่รังไข่ หรือเคยผ่าตัดเอารังไข่ออกไปข้างหนึ่ง อาจดูแลตัวเองด้วยการเข้าตรวจภายในและ/หรืออัลตร้าซาวนด์ประจำทุกปีเพื่อตรวจดูสภาพและการทำงานของรังไข่เรื่อยๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook