"วัณโรค" โรคติดต่อที่ยังคงอยู่ในเมืองไทยและทั่วโลก

"วัณโรค" โรคติดต่อที่ยังคงอยู่ในเมืองไทยและทั่วโลก

"วัณโรค" โรคติดต่อที่ยังคงอยู่ในเมืองไทยและทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคภัยไข้เจ็บ มักจะเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะโรคร้ายหรือโรคติดต่อต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้นั้นก็มักจะไม่แสดงอาการออกมาทันที แต่รอให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหายก่อนถึงจะเริ่มมีอาการบอกโรค

สำหรับคนไทยแล้ว โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่น่ากลัวมาก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แต่นอกจากโรคมะเร็งแล้ว ยังมีอีก 1 โรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน แถมยังเป็นโรคติดต่อที่ติดกันง่ายด้วย นั่นก็คือ “วัณโรค”

ทำความรู้จัก “วัณโรค”

วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ซึ่งเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium นี้มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อยสุดและเป็นปัญหาที่สุดในประเทศไทย คือ Mycobacterium tuberculosis

ฉะนั้น สาเหตุการป่วยวัณโรคคือการรับเชื้อมา ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ และเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่เส้นผม ผิวหนัง กระดูก เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และโพรงจมูก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ปอด ทำให้เป็น “วัณโรคปอด”

วัณโรคกว่า 85 เปอร์เซ็นต์พบที่ปอด แต่เมื่อปอดติดเชื้อแล้ว เชื้อสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ ทำให้มีความอันตรายมากน้อยต่างกันไป แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อวัณโรคนอกปอด จากการที่เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะเกิดขึ้นได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ที่พบมากคือที่ กระดูก มีอาการปวด และผิวหนัง มีแผลติดเชื้อเรื้อรังได้

การติดต่อของวัณโรค

วัณโรค ติดต่อกันผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยการไอ จาม การพูดคุย หรือการหายใจรดกัน ในลักษณะที่ผู้อื่นมีโอกาสที่จะสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูด หรือทำกิริยาอาการอื่นที่ทำให้มีฝอยละอองน้ำลายออกมา เชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยของเสมหะ อนุภาคของฝอยละอองที่ขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 1-5 ไมครอน จะกระจายอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง

แต่เชื้อตัวนี้สามารถถูกทำลายได้โดยความร้อน ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นฝอยละอองขนาดใหญ่ เมื่อพ่นกระจายออกมาก็จะตกลงสู่พื้นและแห้งไป ไม่ลอยในอากาศ และฝอยละอองขนาดใหญ่บางส่วนจะถูกกรองไว้ที่เยื่อบุโพรงจมูกซึ่งไม่ทำให้เกิดโรค

ความน่ากลัวของวัณโรค มาจากการที่ผู้ติดเชื้อวัณโรคส่วนมากจะไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายและเป็นพาหะได้ เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันลดลง อาการจะเริ่มแสดงออก เพราะเชื้อจะลงสู่ปอด ค่อย ๆ กัดกินทำลายเนื้อปอดไปเรื่อย ๆ จนปอดเป็นแผล เป็นรูได้

หลังจากที่หายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าปอด ร่างกายที่มีภูมิต้านทานจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ถ้าฆ่าไม่หมด เชื้อจะยังคงอยู่ในเม็ดเลือดขาว แบ่งตัวอย่างช้า ๆ จนมีปริมาณมากพอที่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิต่อโรค ระยะนี้สามารถตรวจพบภูมิโดยการทดสอบทางผิวหนัง ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อจะแพร่กระจายไปยังระบบน้ำเหลืองและกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ถ้าร่างการสร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่เชื้อก็จะไม่แบ่งตัวหรือแบ่งตัวช้าลงมาก และจะไม่ติดต่อหรือก่อให้เกิดโรค

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค อันที่จริงเราทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเหมือนกันหมด เนื่องจากเป็นเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ จึงมีโอกาสจะไปรับเชื้อมาจากที่ไหนก็ได้ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่แออัด จากการหายใจร่วมกัน และผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคมะเร็ง

เรามีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคมากแค่ไหน?

วัณโรค ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค กองวัณโรค อ้างจาก Global Tuberculosis Report 2019 องค์การอนามัยโลกได้จัดกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • TB คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง
  • TB/HIV คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง
  • MDR-TB คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง

ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีภาระวัณโรคสูงทั้ง 3 กลุ่ม โดยพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำที่ขึ้นทะเบียนรักษา ทั้งสิ้น 85,029 ราย เป็นเพศชาย 57,824 ราย และเพศหญิง 27,205 ราย จากจำนวนนี้แสดงให้เห็นว่า พบเพศชายป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรค 6,098 ราย คิดเป็น 7.17 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะมีภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง รายงานเข้าสู่ระบบจำนวน 6,780 ราย และได้รับยาต้านไวรัส 5,391 ราย พบผู้ป่วยวัณโรคที่ดื้อยา มีผลตรวจยืนยัน 1,312 ราย ให้การรักษายาแนวที่สอง 910 ราย

ที่สำคัญคือ การเฝ้าระวังผู้ที่รับเชื้อมาแต่ยังไม่แสดงอาการ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาป่วยอยู่หรือเปล่า จึงไม่ทันได้ระวังตัว ดังนั้น วัณโรคจึงน่ากลัวกว่าโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ

อาการต้องสงสัย เราป่วยเป็นวัณโรคหรือเปล่า?

อาการที่สำคัญของผู้ป่วยวัณโรคปอดที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด คือ อาการไอแห้ง ๆ เรื้อรัง จะเรื้อรังตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ต่อจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะและเลือดปน มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกได้ว่าเป็นไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์

หากแพทย์สงสัยว่าเราอาจป่วยเป็นวัณโรค แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ปอด และตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อ ในรายที่ติดเชื้อที่ผิวหนัง แพทย์ต้องตัดเนื้อเยื่อมาตรวจหาเชื้อ หรือเจาะน้ำไขข้อกระดูกเพื่อย้อมตรวจหาเชื้อวัณโรคหากติดเชื้อที่กระดูก

ป่วยวัณโรค ไม่ได้ตายอย่างเดียว เพราะรักษาหายได้

ปัจจุบัน ผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงและมีวินัยในการรับยา สามารถรักษาหายได้ โดยการกินยาประสิทธิภาพสูงที่รักษาวัณโรค และจะต้องเข้มงวดในการกินยา กินให้ครบทุกมื้อ ทุกเม็ด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะดื้อยา โดยจะใช้ระยะเวลาในการรักษาต่อเนื่อง ยาวประมาณ 6-8 เดือน และห้ามหยุดยาเองเด็ดขาดแม้ว่าอาการจะทุเลาลงแล้ว บางรายอาจต้องรักษายาวไปถึงประมาณ 2 ปี ถึงจะหายสนิท

การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค

เนื่องจากวัณโรคติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ การอยู่ใกล้กับผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัยจะติดกันได้ง่าย เพราะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแสดงอาการจะเป็นผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นมากที่สุด หากมีโรคประจำตัวอยู่แล้วจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นไปอีก จึงจำเป็นต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงควรได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค BCG ตั้งแต่แรกเกิด ทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี

ส่วนผู้ป่วยวัณโรค ควรป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ผู้ป่วยที่รู้ตัวแล้วจะไม่ค่อยแสดงตัว และพยายามอยู่กับผู้อื่นในสังคมให้เป็นปกติ ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าป่วย ควรอยู่ให้ห่างจากผู้อื่น และป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากาอนามัย ไอ จาม ปิดปาก และกินยาต้านวัณโรคต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งจะผู้ป่วยในระยะแสดงอาการจะกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกต อยู่ร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว

จะเห็นได้ว่าแม้วัณโรคจะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ถ้ามีวินัยในการรักษา และดูแลตนเองอย่างดีพอ โอกาสหายเป็นปกติก็มีอยู่สูงมากเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook