วิจัยชี้ นั่งเกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงอายุสั้นจาก “พฤติกรรมเนือยนิ่ง”
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/5/28177/sit-work.jpgวิจัยชี้ นั่งเกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงอายุสั้นจาก “พฤติกรรมเนือยนิ่ง”

    วิจัยชี้ นั่งเกิน 8 ชม.ต่อวัน เสี่ยงอายุสั้นจาก “พฤติกรรมเนือยนิ่ง”

    2021-04-23T06:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ในแต่ละวัน ลองคิดเล่นๆ ดูว่าคุณนั่งเฉยๆ นานที่สุดกี่ชั่วโมง?

    วัยเรียน วัยทำงาน รวมถึงวัยผู้สูงอายุ ที่นั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน นั่งดูทีวีเฉยๆ อยู่ที่บ้าน ทุกวัยเสี่ยง “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” จากการนั่งเฉยๆ ขยับร่างกายส่วนสะโพกและขาน้อยเกินไป ทราบหรือไม่ว่าการนั่งเฉยๆ เป็นเวลานานๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณมากแค่ไหน?

    พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จากเพจ Pleasehealth Books ระบุว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ถ้าคุณนั่งเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ความเสี่ยงอายุสั้นลงจะเพิ่มขึ้น 8% ในทุกชั่วโมงที่นั่ง

    จากข้อมูลพบว่า ชาวอเมริกันนั่งเฉลี่ย 6.5 ชั่วโมงต่อวัน ชาวฝรั่งเศสนั่งถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนคนไทยนั้น เคยมีงานวิจัยของจุฬาฯพบว่านั่งเฉลี่ยที่ 6 ชม. 23 นาที

    พฤติกรรมเนือยนิ่ง คืออะไร?

    พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) คือ พฤติกรรมขณะตื่นที่ใช้พลังงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.5 METs ไม่ว่าจะอยู่ในท่านั่ง นอน หรือเอนตัวแบบต่างๆ

    โดย 1 MET (Metabolic equivalent) คือ พลังงานที่เราใช้ในขณะพักนิ่งๆ

    ดังนั้นพฤติกรรมประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะการนั่งดูทีวีนิ่งๆ นอนไถมือถือเนือยๆ หรือนั่งทำงานหน้าคอมทั้งวัน ล้วนจัดเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น โดยพบว่าคนที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันมาก จะมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เบาหวาน อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ ซึมเศร้า ปวดหลัง ไปจนถึงมะเร็ง และอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลง

    ถ้าจำเป็นต้องนั่งทำงานเนือยนิ่งทั้งวัน จะลดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร?

    1. ออกกำลัง งานวิจัยพบว่าการออกกำลังหนักปานกลาง 60-75 นาทีต่อวัน จะช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการนั่ง 8 ชม.ต่อวันได้
    2. ลุกเดิน 2 นาที ทุก 20 นาที พบว่าการลุกเดินเป็นระยะ ได้ผลดีกว่าการใช้โต๊ะทำงานแบบยืน แต่ยืนนิ่งไม่ขยับเป็นเวลานาน
    3. ลองเปลี่ยนจากการนั่งคุยงาน เป็นเดินคุยงาน ถ้าสามารถทำได้
    4. หางานอดิเรกที่ช่วยให้ได้ขยับร่างกายหลังเลิกงานหรือในวันหยุด เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นเกมเต้น ทำอาหาร
    5. ดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ พบว่ายิ่งดัชนีมวลกายมาก ผลเสียที่เกิดจากพฤติกรรมเนือยนิ่งก็จะยิ่งมากขึ้นตามกัน