ตำรับ ‘สมุนไพร’ รักษา ‘โรคกระเพาะอาหาร’

ตำรับ ‘สมุนไพร’ รักษา ‘โรคกระเพาะอาหาร’

ตำรับ ‘สมุนไพร’ รักษา ‘โรคกระเพาะอาหาร’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน พรรณิณ นทวงศ์


เคยรู้สึกไม่สบายท้อง รับประทานอะไรเข้าไปก็แน่นท้อง เป็นๆ หายๆ บ้างไหม?

ทราบหรือไม่ว่าอาการดังกล่าว คือ อาการหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร!

ที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าโรคกระเพาะอาหาร คือ โรคที่เกิดจากกระเพาะโดนน้ำย่อยกัดจนเป็นแผล แต่ความจริงแล้วมีผู้ป่วย 60-90% เป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล พบเพียงการอักเสบเล็กน้อยของกระเพาะอาหารเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารแบบมีแผลหรือไม่มีแผล อาการของโรคก็มีความคล้ายคลึงกัน คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หรือบริเวณเหนือสะดือ ท้องอืด อาการมักเป็นๆ หายๆ มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว อาการปวดหรือแน่นท้องจะดีขึ้นหลังทานอาหาร หรือได้รับยาลดกรด บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้องหรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มีลมมากในท้อง ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น หรืออาจมีคลื่นไส้อาเจียน หรืออาการแสบร้อนยอดอกร่วมด้วย

เเล้วรู้หรือไม่ว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ?

เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร มีการหลั่งกรดในกระเพาะมากเกินไป หรืออาจเกิดจากความเครียด การทานอาหารรสจัด การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หรือพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถส่งเสริมให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ เช่น การสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการเป็นแผลกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แผลหายช้า เป็นใหม่ได้ง่าย ทำให้การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลไม่ดี การทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือการทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, diclofenac, piroxicam เป็นต้น ที่มีผลในการระคายเคืองกระเพาะอาหารบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

สำหรับการรักษานั้น อันดับแรกก็ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ลดการทานอาหารรสจัด ทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ซื้อยาแก้ปวดทานเองโดยไม่จำเป็น

ในส่วนของยารักษาแผนปัจจุบันก็มีหลายกลุ่มยาที่แพทย์อาจสั่งใช้ร่วมกัน คือ ยาลดการหลั่งกรด เป็นกลุ่มยารักษาหลัก ออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งเซลล์ที่หลั่งกรดโดยตรง เช่น cimetidine, omeprazole และยาลดกรดชนิดที่ออกฤทธิ์โดยการสะเทิน (neutralize) กรดที่หลั่งออกมา ซึ่งมักมีส่วนประกอบของ aluminium hydroxide และ magnesium hydroxide ตัวอย่างยา เช่น antacid

นอกจากนี้ ยังอาจมีกลุ่มยาช่วยย่อยและยาขับลม เสริมประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น ส่วนกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะมีการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การรักษาโรคกระเพาะอาหารโดยทั่วไปจะใช้เวลารับประทานยารักษาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยต้องทานยาให้สม่ำเสมอ ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง

ในส่วนของสมุนไพรไทยนั้น ก็มีตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างได้ผลอยู่หลายตำรับ เช่น

ขมิ้นชัน

ขมิ้นผสมน้ำผึ้ง ใช้ผงขมิ้นผสมน้ำผึ้ง ชงกับน้ำอุ่น ดื่มวันละ 3 – 4 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน จะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร และรักษาโรคลำไส้อักเสบได้ นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังช่วยขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และมีผลต้านเชื้อ H.pylori ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ที่สำคัญคือ ช่วยต้านการเกิดมะเร็งในทางเดินอาหารได้

ว่านหางจระเข้



ว่านหางจระเข้ ใช้วุ้นสดว่านหางจระเข้ ขนาดกว้าง 3 นิ้ว ยาว 4 เซนติเมตร แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง จะช่วยรักษาโรคกระเพาะ ช่วยสมานแผล และลดการอักเสบของกระเพาะอาหาร

กล้วยน้ำว้า



กล้วยน้ำว้า ใช้กล้วยน้ำว้าดิบ ฝานเป็นแว่นบางๆ ตากแดดอ่อนๆ จนแห้ง โดยห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารที่มีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะจะสูญเสียไป จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ก่อนอาหารวันละ 3 เวลา โดยอาจจะผสมกับน้ำผึ้งด้วยก็ได้

กระเจี๊ยบ



กระเจี๊ยบเขียว ใช้กระเจี๊ยบเขียวฝักอ่อนตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาบดให้ละเอียด แบ่งใช้ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยละลายกับน้ำ หรือนม หรือน้ำผลไม้ รับประทานวันละ 3 – 4 เวลา หลังอาหาร มีการศึกษาพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ H. pylori ได้

เปล้าน้อย

เปล้าน้อย ใช้ใบเปล้าน้อย 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละครึ่งแก้วกาแฟ วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร อย่างน้อย 2 เดือน โดยต้องเปลี่ยนใบยาทุกวัน มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารที่ดีมาก

ยอ



ลูกยอ ช่วยในการป้องกันหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ช่วยเร่งการสมานแผลของกระเพาะอาหารในหนูทดลอง และลดการอักเสบของกะเพราะอาหารเฉียบพลันจากแอลกอฮอล์ ลดการหลั่งกรดได้ดีเทียบเท่ากับยารานิทิดีนและแลนโซพราโซล และยังช่วยเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหารได้ดีกว่ายาซิสซาพรายด์

เพชรสังฆาต



เพชรสังฆาต มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์หลั่งกรดเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน omeprazole ลดการทำลายเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหาร โดยมีผลลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากแอสไพรินในหนูทดลอง และยังมีผลต้านเชื้อ H.pylori ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook