5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ” อายุน้อยก็เป็นได้

5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ” อายุน้อยก็เป็นได้

5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “โรคหัวใจ” อายุน้อยก็เป็นได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัญญาณอันตราย อาการเริ่มแรกของโรคหัวใจที่ทุกเพศทุกวัยควรระวัง

ผศ.พญ.ชญาสินธุ์ แม้นสงวน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อายุรแพทย์โรคหัวใจ และอาจารย์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณอันตรายของโรคหัวใจ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งอายุมาก และอายุน้อย รวมถึงวิธีป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตของโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที

โรคหัวใจและหลอดเลือด คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุด

จากข้อมูลของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1

โรคหัวใจ มีกี่ประเภท

โรคหัวใจจำแนกได้กว้างๆ 3 ประเภท ได้แก่

  1. กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจหนา
  2. หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ รวมถึงผนังหัวใจ
  3. เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ เช่น วัณโรคที่เยื่อหุ้มหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ

  1. มีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หยุดหายใจขณะหลับ ผู้ป่วยเหล่านี้จะเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจจะไม่แสดงอาการเจ็บหน้าอก อาจจะมาถึงในช่วงที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว หรือมีอาการหนักไปแล้ว เป็นต้น
  2. เป็นโรคหัวใจที่มาจากกรรมพันธุ์ พบได้ในคนอายุน้อย เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หลอดเลือดในหัวใจเสื่อมกว่าวัย

สัญญาณอันตราย โรคหัวใจ

  1. แน่นหน้าอก แน่นตรงกลางหน้าอก อาจจะร้าวขึ้นกราม หรือไหล่ด้านซ้าย แน่นมากๆ จนทรมาน อาจกินเวลา 5-20 นาที ร่วมกับอาการเหงื่อแตก ใจสั่น
  2. หน้ามืด หมดสติ อาการค่อนข้างรุนแรง หัวใจอาจจะเต้นช้ามาก หรือหัวใจอาจจะเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง โดยเฉพาะอาการเป็นลม หมดสติบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
  3. ใจสั่น อาจบ่งบอกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นช้า เต้นเร็ว หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ โดยเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. เหนื่อยง่าย อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย หรือทำกิจกรรมเบาๆ ก็เหนื่อย โดยที่ไม่ได้มาจากการทำกิจกรรมหนัก
  5. ขาบวม อาจบ่งบอกถึงอาการหัวใจวาย มักเกิดอาการร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ตื่นมาเหนื่อยหอบตอนกลางคืน โดยอาการขาบวมต้องบวมที่ขาทั้งสองข้าง ถ้าบวมข้างเดียวอาจเป็นโรคอื่น


วิธีป้องกันโรคหัวใจ

ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหัวใจ ความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในเลือด และอื่นๆ เป็นต้น

หากร่างกายมีความผิดปกติ เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากทำแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาด้วยยา หรือวิธีอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook