ปัจจัยเสี่ยง “หลอดลมอักเสบ” ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว

ปัจจัยเสี่ยง “หลอดลมอักเสบ” ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว

ปัจจัยเสี่ยง “หลอดลมอักเสบ” ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสูบบุหรี่ หรือสูดดมควัน กลิ่นฉุน สารเคมี ฝุ่น และสารระคายเคืองต่างๆ อาจก่อให้เกิดผลร้ายนำไปสู่โรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบ คืออะไร?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดลมอักเสบ คือ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อที่หลอดลมทำให้เยื่อบุผิวภายในหลอดลมมีการอักเสบและบวม มีเสมหะในหลอดลมอุดกั้น ทำให้ช่องทางเดินหลอดลมแคบลง 

อาการของโรคหลอดลมอักเสบ

  • ไอ 
  • หายใจลำบาก 
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • อาจมีอาการเป็นไข้หวัด 
  • เจ็บคอ แสบคอ 
  • ในบางรายอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวได้ 
  • แน่นหน้าอก 
  • หายใจหอบเหนื่อย 

สาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบ

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหลอดลมอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดและไวรัสไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) หรือคลาไมเดีย (Chlamydia) 

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดลมอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย และคุณอาจทำโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดลมอักเสบมากขึ้น คือ 

  1. สูบบุหรี่ หรือต้องอยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่บ่อยๆ 
  2. พบเจอมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ก๊าซพิษ สารเคมีต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเวลานาน

การติดต่อของโรคหลอดลมอักเสบ

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหลอดลมอักเสบติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ซึ่งระยะการแพร่กระจายเชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการหรือหลังเกิดอาการแล้ว 

ชนิดของโรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนไข้หวัด มักเกิดเมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจไล่ลงไปจนถึงหลอดลม เกิดการอักเสบอาการบวมของเยื่อ เมือก ที่บุทางเดินหายใจระคายเคือง
    อาการของโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ มักมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบของโพรงจมูกหรือเป็นหวัด ดังนั้นผู้ป่วยควรรับการรักษาหรือ ปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ
  2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากทางเดินหายใจที่ได้รับสารระคายเคืองอย่างเรื้อรัง เช่น การสูบบุหรี่ต่อเนื่อง นับเป็นส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำให้ร่างกายสร้างสารออกมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ ส่งผลให้มีเสลดเสมหะที่เหนียวข้นและกำจัดออกยาก หลอดลมเกิดการอุดตันหรือการบวมซึ่งช่องทางเดินอากาศในหลอดลมที่ตีบแคบลงทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังได้ด้วย
    อาการของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังผู้ป่วยมักไอเรื้อรังต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี หรือ 2 ปี มีภาวะหายใจลำบาก เมื่อตรวจร่างกายอาจมีเสียงวี้ด มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจมีอาการหลอดลมอักเสบแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

วิธีป้องกันการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ

วิธีป้องกันการเกิดโรคหลอดลมอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีอากาศเย็นและแห้ง 
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง 
  3. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ 
  4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  5. หลีกเลี่ยงการสูดดมควัน กลิ่นฉุน สารเคมี ฝุ่น และสารระคายเคืองต่างๆ 
  6. ดูแลร่างกายให้มีความแข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น วิ่ง เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ เป็นต้น 
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ 
  8. ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ 
  9. รักษาอนามัยพื้นฐานด้วยการสวมหน้ากากอนามัย 
  10. ล้างมือให้สะอาด
  11. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการรุนแรงมาก ไอเรื้อรังไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือไอเป็นเลือดร่วมด้วย มีไข้ ไอมาก หอบเหนื่อย จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจนก่อให้เกิดปอดอักเสบ นำไปสู่การพัฒนาให้เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook