13 พฤติกรรมสุขภาพแย่ๆ ที่กำลังฆ่าคุณทางอ้อม

13 พฤติกรรมสุขภาพแย่ๆ ที่กำลังฆ่าคุณทางอ้อม

13 พฤติกรรมสุขภาพแย่ๆ ที่กำลังฆ่าคุณทางอ้อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จริงๆ แล้ว เราต่างรู้ดีว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหนที่ไม่ดีต่อสุขภาพของตนเอง ทั้งนิสัยการกิน การดื่ม การขยับเขยื้อนร่างกาย พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีมีแต่จะทำลายสุขภาพ และในบางกรณีอาจจะฆ่าตัวเองตายทางอ้อมโดยที่ไม่ทันระวังด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น การรู้ตัวว่าตัวเองว่ากำลังมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพให้มากที่สุด จะสามารถช่วยชีวิตเราได้ ลองมาเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวันที่เราทำ และกำลังแอบฆ่าเราเงียบๆ จากผู้เชี่ยวชาญกันดูหน่อย เพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพของเราจะยังอยู่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

13 พฤติกรรมสุขภาพแย่ๆ ที่กำลังฆ่าคุณทางอ้อม

  1. เลี่ยงที่จะไปพบแพทย์

หรือการที่ไม่ค่อยไปตรวจสุขภาพประจำปี เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อันตรายที่สุด เพราะหากป่วยเป็นโรคอะไรขึ้นมา ก็จะตรวจคัดกรองได้ช้า และรักษาได้ช้าเช่นกัน Darren P. Mareiniss ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน Medicine Sidney Kimmel Medical College – Thomas Jefferson University กล่าวว่า การไม่ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่งผลให้พลาดโอกาสในการรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นได้สำเร็จ

เพราะจริงๆ แล้ว โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากรู้ตัวว่าป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ถ้ากลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามก็ยากที่จะรักษา และไม่สามารถรักษาให้หายขาด นอกจากนี้ การที่ไม่ได้ตรวจพบอาการเบื้องต้นก่อนอาจเป็นปัญหาต่อการวินิจฉัย รักษา และผลการรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

  1. ตามใจปากจนเสี่ยงโรคอ้วน

นิสัยการกินและพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะในผู้ที่ป่วยโรคอ้วนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคข้ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และภาวะหลอดเลือด Dr. Mareiness อธิบายว่า การลดน้ำหนักและควบคุมอาหาร สามารถลดความเสี่ยงนี้ลงอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ส่วนพฤติกรรมสุขภาพที่มีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วน ยังอาจทำให้สูญเสียแคลเซียมอย่างต่อเนื่องในวัยสูงอายุ ฉะนั้น การออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้

  1. พฤติกรรมการนอนที่ไม่ดี

พฤติกรรมการนอนที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการง่วงซึม และง่วงนอนตอนกลางวันได้ นอกจากนี้ Dr. Mareiniss ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การนอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่หลับเรื้อรัง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงของอาการหัวใจวาย โรคอ้วน โรคเบาหวาน และความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (นอนกรน) ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูงในปอด และพักผ่อนไม่เพียงพอจะง่วงเหงาหาวนอนในตอนกลางวัน ฉะนั้น ใครที่มักง่วงนอนตอนกลางวันเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์

  1. ไม่ดูแลสุขภาพของฟันและช่องปาก

สุขภาพในช่องปาก เป็นสิ่งที่ใครหลายคนละเลย ทั้งที่การใส่ใจทันตกรรมของตนเองมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาสุขภาพส่วนอื่นๆ Dr. Mareiness ให้เหตุผลว่าการละเลยสุขภาพในช่องปากไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เรื่องความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลิ่นปากและอาการปวดฟันด้วย ที่สำคัญ ช่องปากยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในลำคอ ศีรษะ และระบบอื่นๆ ในร่างกาย

  1. ไม่กินยาตามแพทย์สั่ง

สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว การที่ไม่กินยาตามที่แพทย์สั่ง เป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตที่สุดอีกประการที่เหมือนกับการฆ่าตัวตายทางอ้อม เพราะการไม่ได้รับยาตามโรคที่เป็น อาจทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นได้ Dr. Mareiness ยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ยอมกินยาลดน้ำตาลในเลือดหรือยาที่ควบคุมอินซูลินอย่างเคร่งครัด อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนเป็นอันตรายถึงชีวิต

เช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว อาจมีอาการกำเริบเฉียบพลันหากไม่ใช้ยาขับปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีประวัติเส้นเลือดอุดตัน อาจมีเส้นเลือดเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดหากไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยที่หัวใจห้องบนทำงานผิดปกติ อาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้หากไม่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยโรคไตที่ไม่ฟอกไตก็อาจจะพบภาวะโพแทสเซียมสูง และเกิดภาวะไตวาย และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอาจหัวใจวายได้ หากไม่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด

  1. ไม่กินอาหารตามคำแนะนำของแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์ แล้วแพทย์แนะนำอาหารที่ควรกินหรือไม่ควรกิน Dr. Mareiness แนะนำว่าให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย อย่างเช่นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการกำเริบและอาจฉุกเฉินจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ควบคุมปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง DKA หรือ HHS ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของผู้ป่วยเบาหวานที่รุนแรง หากรักษาไม่ทันหรือไม่ถูกต้อง ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้

  1. ไม่ใส่ใจจะรับการฉีดวัคซีนใดๆ

เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราจะมีสมุดบันทึกการรับวัคซีนว่าควรรับวัคซีนอะไรบ้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เมื่อเติบโตมา ก็อย่าละเลยการฉีดวัคซีนเหมือนเดิม ควรสำรวจตัวเองเสมอว่าในวัยนี้ควรได้รับวัคซีนอะไรบ้าง เพราะการไม่ฉีดวัคซีนทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นสามารถลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการพยายามฉีดวัคซีน สังเกตง่ายๆ ในวัยเด็ก เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงกว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน

  1. ปฏิเสธวัคซีน COVID-19

ในเวลานี้ COVID-19 เป็นปัญหาระดับโลก ที่คนทั่วโลกต่างก็มีความเสี่ยงเท่าๆ กันหมด ซึ่งก่อนหน้านี้เรามองว่าวัคซีนคือความหวังที่จะทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตกันอย่างเป็นปกติได้โดยเร็ว ฉะนั้น การที่เราปฏิเสธการรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 จึงถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ Dr. Mareiniss เตือนว่าเราทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ยิ่งในเวลานี้ ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีความรุนแรงมากทั้งการติดเชื้อและอันตรายถึงชีวิตเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

  1. อยู่กลางแดดนานเกินไป

การอยู่กลางแดดนานๆ โดยไม่ทาครีมกันแดดก่อนออกแดด ส่งผลเสียต่อสุขภาพผิว อาจทำให้ผิวหนังไหม้และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง Dr. Mareiness เตือนว่า ควรใช้ครีมกันแดดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิวไหม้และความเสี่ยงต่อมะเร็ง โดยเฉพาะบุคคลที่มีผิวขาวและผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งผิวหนัง

  1. งดอาหารเช้า

หลายต่อหลายคนมักจะอ้างว่าจะไม่มีเวลากินอาหารเช้า หรือบอกว่าไม่หิวหลังจากตื่นนอน แต่การงดอาหารเช้าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of the American College of Cardiology ระบุว่า การงดอาหารเช้าเชื่อมโยงกับโอกาสเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในอเมริกา

Niket Sonpal อายุรแพทย์และแพทย์ระบบทางเดินอาหาร อธิบายถึงสาเหตุที่สัมพันธ์กันระหว่างการงดอาหารเช้าและการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ เรามีแนวโน้มที่จะกินจุบกินจิบตลอดทั้งวัน รวมถึงกินในมื้ออื่นๆ มากเกินไป การกินอาหารมากเกินไปอาจนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดอุดตัน ฉะนั้น เป็นไปได้ควรเลิกนิสัยไม่กินอาหารเช้า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่สักแต่ว่ากินเพื่อให้รู้ว่ากิน เพราะต้องแน่ใจว่าอาหารที่กินมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย

  1. ออกกำลังกายท่ามกลางความร้อนระอุ

การออกกำลังกายท่ามกลางความร้อน นำไปสู่โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ Jennifer Conroyd ผู้ฝึกสอนฟิตเนสและผู้ก่อตั้ง Fluid Running เตือนว่า ในช่วงฤดูร้อนที่หลายคนอาจจะรู้สึกสนุกและชื่นชอบสภาพอากาศแจ่มใสแบบนี้ จึงคิดว่ามันเหมาะกับการออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เช่น โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกนั่นเอง

เธออธิบายว่า เวลาที่อุณหภูมิในร่างกายสูง ปกติร่างกายจะระบายความร้อนด้วยเหงื่อ แต่ความผิดปกติคือกลับไม่มีเหงื่อออกทั้งที่อุณหภูมิร่างกายสูงมาก อาจพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายเกิดภาวะวิกฤติไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ อัตราการเต้นของหัวใจสูงมาก และนำไปสู่โรคลมแดดในที่สุด ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงทันที ดังนั้น เมื่อออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อนๆ จึงจำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ หยุดพักเหนื่อยบ้าง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตลอดเวลา

  1. กินมื้อเย็นเป็นมื้อใหญ่

พฤติกรรมการกินที่ดี คือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่ในมื้อเย็น John Morton หัวหน้าแผนกการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน ที่ Yale Medicine และศาสตราจารย์ด้านการผ่าตัดที่ Yale School of Medicine ใน New Haven กล่าวถึงวิธีการกินอาหารในแต่ละมื้อว่า “กินเหมือนราชินีในมื้อเช้า กินเหมือนเจ้าหญิงในมื้อกลางวัน และให้กินเหมือนนกสำหรับมื้อค่ำ” เนื่องจากระบบเผาผลาญในร่างกายของคนเราจะเผาผลาญได้ช้าลงในเวลากลางคืน เมื่อเทียบกับตอนกลางวัน

  1. สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่แย่ที่สุด โดยเฉพาะกับผู้ป่วย และรู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังจะสูบ Dr. Mareiness อธิบายว่าการบุหรี่ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทุกประเภทเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็ง บาดเจ็บบริเวณไต ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด และถุงลมโป่งพองอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพอีกอย่างที่ไม่คาดคิดจากการสูบบุหรี่ คือ เป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลัง!

Gbolahan Okubadejo แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เปิดเผยว่าการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องอาจทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้กระดูกเปราะ และเกิดอันตราย กระดูกแตกหักได้ง่ายๆ จากการหกล้ม และเลวร้ายที่สุดคือเพียงแค่จามเท่านั้น! อีกทั้งนิโคตินในบุหรี่ที่อยู่ในกระแสเลือดยังขวางการไหลเวียนเลือด ทำให้เนื้อเยื่อกระดูกสันหลังขาดสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะออกซิเจน ขัดขวางการงอกใหม่ของเนื้อเยื่อในเซลล์กระดูก ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีควรที่จะเลิกบุหรี่ให้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook