อาหารริมฟุตบาท สาเหตุท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ?

อาหารริมฟุตบาท สาเหตุท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ?

อาหารริมฟุตบาท สาเหตุท้องร่วง-อาหารเป็นพิษ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ประชาชนที่เลือกกินอาหารร้านริมบาทวิถีต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ แนะให้เลือกร้านอาหารที่มีป้ายมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย CleanFood Good Taste เพื่อสร้างความมั่นใจและสุขอนามัยที่ดี

 

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผงลอยจำหน่ายอาหารที่เข้าร่วมโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ CFGT รวมทั้งสิ้น 96,742 แผง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 81,792 แผง  คิดเป็นร้อยละ 84.55 นับว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่จากรายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา ปี 2558กลับพบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำเป็นสื่อที่สูงเช่นกัน คือ โรคอุจจาระร่วง 1,097,751ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1685.61 ต่อแสนประชากร และโรคอาหารเป็นพิษ 129,638 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 199.06 ต่อแสนประชากร

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงได้ดำเนินการคุมเข้มด้านสุขลักษณะและข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี โดยส่งเสริมและผลักดันให้ท้องถิ่นมีการนำกฎหมายไปบังคับใช้ในเรื่อง

1)การอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ

2) ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับแผงลอยจำหน่ายอาหาร 12 ข้อ และเกณฑ์การตรวจการปนเปื้อนแบคทีเรียโคลิฟอร์มภาคสนาม

3) ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีต้องมีความรู้ หรือผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนด

4) ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อที่ผ่านทางอาหารและน้ำเป็นสื่อ

5) ตั้งถูกที่ ในเขตหรือบริเวณที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น

 

ขณะที่ผู้บริโภคควรเลือกซื้อร้านจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่มีป้ายรับรองมาตรฐานอาหารสะอาดของหน่วยงานราชการท้องถิ่นหรือใบอนุญาตที่ติดที่แผงลอย เช่น ป้ายมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste ผู้จำหน่ายอาหารต้องแต่งกายสะอาด  ตัดเล็บสั้น ไม่ใส่เครื่องประดับที่มือ ล้างมือก่อนสัมผัสอาหารทุกครั้ง ภาชนะใส่อาหารต้องสะอาด จัดเก็บเป็นระเบียบ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ไม่ผ่านความร้อน อาหารประเภทยำต่างๆ อาหารทะเลที่ลวกสุกๆ ดิบๆ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือหลังหยิบจับสิ่งสกปรก ที่สำคัญให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

“ในปี 2558กรมอนามัย ได้ดำเนินการเฝ้าระวังแผงลอยจำหน่ายอาหารในพื้นที่ 8จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรสาคร ขอนแก่น อำนาจเจริญ และระนอง ในแผงลอยจำหน่ายอาหาร 154แผงไม่ผ่านเกณฑ์ฯ 100 แผง คิดเป็นร้อยละ 64.94 ซึ่งพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารพร้อมบริโภค ร้อยละ 34.84 ผักสด ร้อยละ 66.49 น้ำดื่ม ร้อยละ 18.44 น้ำแข็ง ร้อยละ 34.43 เครื่องดื่ม ร้อยละ 12.5 มือผู้สัมผัสอาหาร     ร้อยละ 31.54 และภาชนะอุปกรณ์ ร้อยละ 15.14 และได้ตรวจสารที่ปนเปื้อน 4 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว โดยพบฟอร์มาลินปนเปื้อนมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนใหญ่ พบในปลาหมึกสด และปลาหมึกอาร์เจนตินา ส่วนข้อกำหนดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ

ด้านกายภาพ 3 อันดับแรก ได้แก่ การล้างภาชนะที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ การแต่งกายของผู้สัมผัสอาหาร ไม่ปกปิดอาหารปรุงสุก และการรวบรวมมูลฝอยและ เศษอาหารไปกำจัดไม่ถูกต้อง ในช่วงหน้าร้อนนี้จึงต้องระมัดระวังเลือกบริโภคจากร้านริมฟุตบาทที่ได้รับการตรวจสุขลักษณะและอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยสังเกตจากใบอนุญาตหรือบัตรประจำตัว หรือป้ายรับรองดังกล่าว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook