8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา

8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา

8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • การกินยาดักไข้  ไม่สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้ได้  และยังอาจทำให้เกิดโทษ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย เกิดภาวะตับอักเสบได้

  • การกินยาในปริมาณหรือขนาดที่มากกว่าแพทย์กำหนด เนื่องจากอุบัติเหตุหรือจากความเข้าใจผิดที่คิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้

  • ยาเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลเท่านั้น จึงไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นที่มีอาการเดียวกัน เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกัน

พญ. ทิปภา ชุติกาญจน์โกศล แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า "ยา" เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ช่วยในการรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคและอาการป่วยต่างๆ ทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นตามฤทธิ์และสรรพคุณของยา เช่น ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดความดันโลหิต รักษาการติดเชื้อ ฯลฯ  หลักการใช้ยานั้น ควรใช้ยาอย่างถูกวิธี ตามขนาดและระยะเวลาของการรักษา ที่เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำ 

แต่หลายครั้งที่ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ รวมถึงความเชื่อผิดๆ อาจส่งผลให้การใช้ยาก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เกิดผลข้างเคียงเนื่องจากได้รับยาเกินขนาดหรือยาหลายตัวออกฤทธิ์ต้านกัน อาจเกิดอาการแพ้ยา ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงถึงแก่ชีวิต หรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บจากยา โดยเฉพาะตับ ไต กระเพาะอาหาร และสมอง

  1. กินยาดัก เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ความเชื่อยอดนิยมที่ว่า หากรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ให้กินยาดักไว้ก่อน โดยคิดว่ายาจะสามารถป้องกันไข้หวัดได้ โดยเฉพาะการกินยาพาราเซตามอลหรือยาลดไข้ชนิดอื่นๆ ในความจริงนั้น ยาเหล่านี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณในการป้องกันอาการป่วย ดังนั้น การกินยาดักไข้ตอนที่ยังไม่มีอาการจึงไม่สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้ได้ อีกทั้งยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง และอาจเกิดอันตรายหากกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย และมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบได้ในที่สุด

  1. กินรวบมื้อ

การลืมกินยามื้อหนึ่งแล้วรวบยอดไปมื้อถัดไป หรือการลืมกินยาก่อนอาหารแต่เอาไปกินพร้อมยาหลังอาหารแทน  เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการกินยาแบบรวบมื้อ อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดในมื้อถัดไป และยาที่จำเป็นต้องกินก่อนอาหารก็จะถูกลดประสิทธิภาพลงเมื่อนำไปกินหลังอาหาร วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ยาระหว่างอาหารหรือยาพร้อมอาหาร  ควรกินยาพร้อมอาหารคำแรกหรือหลังจากกินอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง
  • ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหารประมาณ 20 – 30 นาที ถ้าลืม ให้ข้ามไปกินก่อนอาหารมื้อถัดไป หรือกินหลังอาหารมื้อนั้นอย่างน้อย 2 ชม. และไม่ต้องกินของมื้อถัดไปแล้ว
  • ยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหาร ประมาณ 15 นาที ถ้าลืมไม่เกิน 15 นาที สามารถกินได้ ถ้านานเกิน 15 นาที ให้ข้ามไปกินมื้อถัดไป แต่ถ้าเป็นยาสำคัญห้ามข้ามเด็ดขาด ให้กินของว่างมื้อเล็กๆ แล้วกินยาตามทันที
  • ยาก่อนนอน ควรกินก่อนเข้านอน  ประมาณ 15 – 30 นาที ถ้าลืม ให้ข้ามไปกินก่อนนอนคืนถัดไป
  1. กินยาเกินขนาด (overdose) จะได้หายเร็วๆ

การกินยาในปริมาณหรือขนาดที่มากกว่าแพทย์กำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิด หรือคิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องของปริมาณและระยะเวลาของการกินยา ซึ่งยาที่พบบ่อยว่ากินเกินขนาด คือ ยาพาราเซตามอล โดยแนะนำว่าขนาดที่ถูกต้องในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ขนาดยาอยู่ที่ 600-900 มิลลิกรัม หรือขนาดยา 500 มิลลิกรัม 1.5 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง  อีกทั้งยาพาราเซตามอลนั้นเป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยา ดังนั้น การกินยาพาราเซตามอลมากเกินไปหรือกินพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง เสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบได้

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยกินยาเกินขนาดแล้วพบอาการไม่พึงประสงค์  เช่น อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว  ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจขัด ชีพจรอ่อนลง ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ง่วงนอน สับสน หรือมีอาการหนักถึงขั้นช็อก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยด่วน  เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจไม่ส่งผลฉับพลันแต่สะสมจนทำลายอวัยวะสำคัญได้

  1. ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านแบคทีเรีย เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น  เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง แผลเป็นฝีหนองที่ผิวหนัง หรือปอดอักเสบจากแบคทีเรียทำให้มีเสมหะเหลือง/เขียว ข้อสำคัญ คือ ยาปฏิชีวนะนั้นมีหลายชนิดและการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต่างชนิดกัน การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุเท่านั้น ไม่ใช่จะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดก็ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเลือกยารับประทาน

ส่วนยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการไข้ บรรเทาปวด บวม แดง  โดยข้อเท็จจริงทางการแพทย์ระบุว่า การอักเสบส่วนใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการติดเชื้อ เช่น โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันอย่างโรคข้อรูมาตอยด์ การบวมแดงช้ำจากอุบัติเหตุหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งใช้ยาต้านอักเสบรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ)   

หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน  ดังนั้น หากซื้อยากินเองก็มีโอกาสที่จะได้ยาที่ไม่ตรงกับโรค และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น จนเกิดเชื้อดื้อยาในร่างกายในที่สุด ทั้งนี้ จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าทุกๆ ชั่วโมงคนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะเฉลี่ย 2 คน โดยในปี 2010 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยมากถึง 19,122 คน โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากคนไทยสามารถซื้อยาได้ง่ายตามร้านขายยา โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

  1. เป็นหวัดเจ็บคอต้องกินยาปฎิชีวนะ

ภาวะเจ็บคอส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหรือที่เรียกกันว่าเชื้อหวัด ส่วนอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นจะต้องมีอาการบ่งชี้อื่นๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีหนองที่ต่อมทอนซิล น้ำมูก/เสมหะสีเหลือง/เขียว การติดเชื้อไวรัสหรือหวัดไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ใช้การรักษาตามอาการให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเอง ดังนั้น จึงมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีอาการเจ็บคอควรซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมากินจึงไม่ช่วยรักษาอาการเจ็บคอจากหวัดได้ 

  1. หยุดยา เพิ่มยา ลดยา หรือซื้อยาเดิมกินเองต่อเนื่องเป็นปีๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

การใช้ความรู้สึกในการหยุดยา เพิ่มยา หรือลดยาเอง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะอยากหายจากโรคไวๆ หรือรู้สึกว่าอาการดีขึ้นจริงๆ จึงหยุดยาเพราะคิดว่าหายแล้ว  ข้อเท็จจริง คือ โรคบางโรคใช้ยารักษาเพียงระยะสั้นๆ ก็เพียงพอ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ากินยาครบตามที่แพทย์กำหนดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินต่อ  หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อักเสบลดปวด ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาระบาย หากไม่มีอาการแล้วก็สามารถหยุดทานได้

แต่ในกรณีของโรคเรื้อรัง (Non Communicable Diseases: NCD) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตเสื่อม เกาต์  โรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่จะเรื้อรัง ใช้เวลารักษานาน และต้องอาศัยการใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมและการตรวจร่างกาย/ตรวจเลือดอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคในอีกห้าปีหรือสิบปีข้างหน้าได้ ดังนั้น ถ้าเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคกลุ่มโรคเรื้อรัง ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาเอง แม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

  1. โรคเดียวกัน แบ่งยากันกินได้

ในบางครั้งเมื่อหายจากโรคแล้วแต่ยังมียาเหลืออยู่ จึงแบ่งยาให้คนอื่นที่มีอาการเดียวกันนำไปรับประทานต่อ สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชนิดและขนาดของยาที่แตกต่างกัน ยาจึงเหมาะที่จะให้การรักษาเฉพาะแต่ละบุคคลเท่านั้น ที่สำคัญที่สุด ผู้ใหญ่ไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้กับเด็กโดยใช้วิธีแบ่งครึ่งให้ทานโดยเด็ดขาด ด้วยเข้าใจว่ายาครึ่งเม็ดให้ฤทธิ์ยาเพียงครึ่งเดียว แต่เนื่องจากระบบอวัยวะภายในของเด็กนั้นไม่เหมือนผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาจึงแตกต่างกัน การที่เด็กได้รับยาเกินขนาดเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้มากอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม   

  1. การกินยากับเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

การกินยาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรกินกับน้ำเปล่าที่สะอาด ไม่ควรกินคู่เครื่องดื่มอื่น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการออกฤทธิ์ของยาได้ ดังนี้  

  • กินยากับนม - แคลเซียม โปรตีน และเหล็กในนมอาจไปจับกับตัวยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด ส่งผลต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่  
  • กาแฟ - กาแฟมีคาเฟอีนออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากกินร่วมกับยาที่กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาแก้หวัด ยาขยายหลอดลม อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดอาการวูบเป็นลมได้ เป็นต้น
  • น้ำผลไม้ - น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว จะทำให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ปวดท้องถ้าทานคู่กับยาที่มีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะอยู่แล้ว น้ำผลไม้ยังมีผลต่อการดูดซึมของยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และโรคภูมิแพ้ต่างๆ  
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ - ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและปัสสาวะมากขึ้น หากกินเวลาใกล้เคียงกับยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหรือยาขับปัสสาวะ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป เสียน้ำออกจากร่างกายเกินความจำเป็น ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ มึนงง และอาจเป็นลมหมดสติได้ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรังยังเพิ่มความเสี่ยงโรคตับอักเสบหรือตับแข็ง การรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ขับออกจากร่างกายผ่านทางตับ ก็ยิ่งทำให้เซลล์ตับได้รับความเสียหายมากขึ้น แม้จะกินยาในขนาดปกติก็ตาม
  • น้ำอัดลม - มีทั้งกรดและน้ำตาลสูง ซึ่งขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยาลดกรด  ยาขยายหลอดลม

การใช้ยาให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรค มีเคล็ดลับง่ายๆ เพียงใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร อ่านฉลากกำกับยา รับประทานยาในปริมาณที่ถูกต้อง ตรงเวลา และไม่หยุดยาเอง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือพบแพทย์ผู้ทำการรักษา สิ่งสำคัญ คือ อย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัวหรือหลงเชื่อสิ่งที่ส่งต่อกันในโลกโซเชียลโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างละเอียดหรือมีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook