มาป้องกัน...กระดูกพรุนกันเถอะ

มาป้องกัน...กระดูกพรุนกันเถอะ

มาป้องกัน...กระดูกพรุนกันเถอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของสตรีวัยกลางคนขึ้นไป โดยพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเนื่องจากประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นและการเปลี่ยนสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบเพราะผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆในระยะเริ่มแรกจนกระทั่งมีความรุนแรงมากขึ้นจึงแสดงอาการ

โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?
โรคกระดูกพรุน คือ สภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงร่วมกับการเสื่อมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างภายในของกระดูกทำให้เกิดความผิดปกติทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเป็นผลให้กระดูกเปราะบาง มีความแข็งแรงลดลงและเกิดการแตกหักได้ง่าย ในสภาวะปกติตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ กระดูกจะมีการซ่อมแซมตัวเองด้วยการสลายของเก่าที่สึกหรอและสร้างของใหม่ขึ้นทดแทนเป็นวงจรการหมุนเวียนของกระดูกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยในระยะแรกของชีวิตจะมีการสร้างมากกว่าการสลาย ทำให้มีเนื้อกระดูกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจนมีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่ออายุประมาณ 25 – 30 ปี และจะคงที่อยู่ระยะหนึ่งจนถึงอายุประมาณ 40 ปี จากนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้นการสลายของเนื้อกระดูกจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจนการสร้างตามไม่ทันทำให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกทั่วร่างกายค่อยๆลดลง และจะลดลงอย่างรวดเร็ว (3-5% ต่อปี)ในระยะ 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือนเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนทำให้การสลายกระดูกขาดตัวยับยั้งหลังจาก 5 ปีไปแล้วอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะเป็น 0.5-1% ต่อปีไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ชายจะมีการลดระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอายุที่มากขึ้น จึงทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูก 0.5-1% ต่อปีเช่นเดียวกันแต่ไม่มีช่วงที่มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากๆ อย่างในหญิงวัยหมดประจำเดือน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะในผู้หญิง

ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีดังนี้

1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น
2. เพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง
3. เป็นชนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
4. บุคคลที่มีรูปร่างเล็กหรือมีน้ำหนักตัวน้อย
5. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
6. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย
7. ถูกแสงแดดน้อย ทำให้ได้รับวิตามินดีที่จำเป็นสำหรับการดูดซึมแคลเซียมน้อย
8. ขาดการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
9. สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
10. มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากผิดปกติไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เป็นต้น
11. ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
12. ขาดสารอาหาร

การตรวจและวินิจฉัย ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆแก่ผู้ป่วย อีกทั้งยังใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีก็ได้ผล ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ การตรวจด้วยวิธีการนี้สามารถวัดได้ว่าเนื้อกระดูกมีปริมาณเท่าใดและสามารถใช้ติดตามผลการรักษาได้

อาการและอาการแสดง โรคกระดูกพรุนในระยะแรกจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นชัดเจน อาการจะเริ่มเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว และอาการสำคัญที่สุดที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ กระดูกหัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรือหลังจากการกระแทกเพียงเล็กน้อยหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง ตำแหน่งที่เกิดกระดูกหักจะพบได้ทุกที่ในร่างกายและจะแตกต่างกันไปตามอายุ แต่จุดที่พบได้บ่อยคือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มักจะมีกระดูกบางมากที่สุด สำหรับอาการทั่วไปที่มักพบคือ ปวดกระดูกโดยเฉพาะกระดูกสันหลังอาการปวดจะเป็นๆหายๆไม่มีตำแหน่งชัดเจนและไม่มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงบางครั้งอาจจะปวดอย่างรุนแรง ต่อมาเมื่อกระดูกสันหลังเริ่มทรุดจะพบความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้น เช่น กระดูกสันหลังคดโค้งงอมากขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับตัวเตี้ยลงทุกๆ ปี

การป้องกันและรักษา การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดยการสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งหากพ้นวัยนี้ไปแล้วร่างกายจะไม่สามารถสะสมเนื้อกระดูกให้เพิ่มได้อีก เนื่องจากกระบวนการสลายมีมากกว่าการสร้างจึงทำได้แต่เพียงการรักษาเนื้อกระดูกที่มีอยู่ไม่ให้ลดไปจากเดิม โดยมีหลักในการป้องกันและรักษาอย่างเดียวกันคือ

1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีปริมาณแคลเซียมที่มากเพียงพอ อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย ผักใบเขียว เป็นต้น
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นรวมทั้งช่วยพยุงความหนาแน่นของเนื้อกระดูกเอาไว้
3. หลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่ชักนำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม อาหารเค็มจัด สูบบุหรี่ เป็นต้น
4. ป้องกันการหกล้ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพราะความสามารถในการทรงตัวลดลง จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านไม่ให้เสี่ยงต่อการล้ม เช่นพื้นที่ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ
5. การใช้ยาป้องกันและรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม

การรักษาโรคกระดูกพรุนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตามมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราทุพพลภาพที่เกิดจากภาวะกระดูกหักแต่ไม่สามารถป้องกันได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันการหกล้ม

ปริมาณแคลเซียมโดยประมาณที่แนะนำให้คนไทยบริโภคใน 1 วัน


ตัวอย่างแหล่งอาหารแคลเซียม

เอกสารอ้างอิง
แคลเซียมและสุขภาพ.(2545).กรุงเทพฯ : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อเพิ่มแคลเซียมป้องกันโรคกระดูกพรุน.(2545). กรุงเทพฯ : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

รัชตะ รัชตะนาวิน.(2538).โรคกระดูกพรุน.ในสุรวุฒิ ปรีชานนท์,สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์(บรรณาธิการ), ตำราโรคข้อ(หน้า 319 – 340). กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์

วันทนีย์ เกรียงสินยศ.(2548).เรื่องน่ารู้.ใน สุรเกียรติ อาชานานุภาพ(บรรณาธิการ),กินอย่างไรเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน(หน้า 48 – 50). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน

สุชีลา จันทร์วิทยานุชิต.(2548).โรคกระดูกพรุน.ใน สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์, สุรวุฒิ ปรีชานนท์(บรรณาธิการ),ตำราโรคข้อ(หน้า 596 – 638). กรุงเทพฯ:เอส.พี.เอ็น การพิมพ์

อภิชาติ จิตต์เจริญ อุรุษา เทพพิสัย.(2546).การดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนโดยไม่ใช้ฮอร์โมน.ใน อุรุษา เทพพิสัย, มยุรี จิรภิญโญ, อภิชาติ จิตต์เจริญและจิตติมา มโนนัย(บรรณาธิการ),ความก้าวหน้าของการรักษาชาย-หญิงวัยทองกับแพทย์ทางเลือก.(หน้า 253 – 302).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง

อุดม วิศิษฏสุนทร.(2541).โรคกระดูกพรุน.ใน สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์,สุรวุฒิ ปรีชานนท์(บรรณาธิการ),คู่มือโรคข้อ (หน้า 286 – 294). กรุงเทพฯ:เรือนแก้วการพิมพ์

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และภัทราพร พูลสวัสดิ์


ขอบคุณข้อมูล จาก ramaclinic.ra.mahidol.ac.th http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/63

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook