โรคกระดูกละลาย โรคกอร์แฮมดีซีส ยังไม่พบสาเหตุ-วิธีรักษา

โรคกระดูกละลาย โรคกอร์แฮมดีซีส ยังไม่พบสาเหตุ-วิธีรักษา

โรคกระดูกละลาย โรคกอร์แฮมดีซีส ยังไม่พบสาเหตุ-วิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวของน้อง ก็อต ทีทัช หนุ่มวัย 23 ปี ที่กำลังป่วยเป็นโรคกระดูกละลาย และกำลังได้รับความลำบากทั้งเรื่องของวิธีการรักษา และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น Sanook! Health จึงอยากแนะนำโรคนี้ให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก และเข้าใจกันให้มากขึ้นค่ะ

 

โรคกระดูกละลาย โรคกอร์แฮมดีซีส โรคหายาก อันตราย และมีเพียง 200 คนในโลกที่เป็น

โรคกระดูกละลาย หรือ Gorham’s disease (โรคกอร์แฮมดีซีส) เกิดจากความผิดปกติในระบบกระดูกของร่างกาย โดยมวลกระดูกเกิดการลดตัวจนเหมือนจะหายไป ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด เพราะเป็นโรคที่หายาก และพบผู้ป่วยเพียง 200 รายในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

 

อาการของโรคกระดูกละลาย

อาการเริ่มแรกก่อนที่มวลกระดูกจะเริ่มหายไป ไม่มีการบันทึกเอาไว้แน่ชัด ผู้ป่วยจะแค่รู้สึกเจ็บตรงบริเวณที่กระดูกเริ่มละลาย หรือมวลกระดูกเริ่มหดตัวลง และทราบว่าเป็นโรคนี้ เมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์เท่านั้น

 

บริเวณที่เกิดโรคกระดูกละลาย

ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของร่างกาย หากมีกระดูก หรือมีส่วนใดของร่างกายที่มีการสะสมของแคลเซียม ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคกระดูกละลายได้ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกหน้าอก กระดูกเชิงกราน กระดูกไหปลาร้า ข้อมือ ข้อเท้า กะโหลกศีรษะ กราม และอื่นๆ

 

โรคกระดูกละลาย มีกลุ่มเสี่ยงเป็นใครบ้าง?

ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หรือเพศอะไร ก็สามารถเป็นโรคกระดูกละลายได้ ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว แต่เนื่องจากเป็นโรคที่หายากมาก จึงยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง แต่ที่ทราบคือ ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคที่สืบทอดจากรรมพันธุ์

 

วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกละลาย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้โดยตรง ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น แต่หลักๆ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ว่าจะต้องแข็งแรงมากพอที่จะรับการรักษาได้ จากนั้นจึงเริ่มซ่อมแซมกระดูกที่หายไป และรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นให้หายไปทีละอย่าง

 

อันตรายของโรคกระดูกละลาย

นอกจากตัวกระดูกที่ละลาย หรือที่มวลกระดูกค่อยๆ ลดลง จะทำให้ไม่สามารถขยับร่างกาย ดำรงชีวิตได้เป็นปกติแล้ว ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย เช่น ภาวะเลือด และน้ำเหลืองออกมาจากบริเวณที่มวลกระดูกหดตัว และปัญหากระดูกที่อาจทิ่มแทงอวัยวะภายในจนเกิดอาการบาดเจ็บ

 

โอกาสในการรักษาให้หายขาด จากโรคกระดูกละลาย

ถึงแม้โรคกอร์แฮมดีซีสจะเป็นโรคอันตราย ที่ยังไม่พบสาเหตุของโรคที่แท้จริง และยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แต่เคยพบผู้ป่วยที่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ เพียงแต่อาจจะต้องรับการรักษาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ครึ่งปี 1 ปี 2 ปีเป็นต้นไป

 

เห็นแบบนี้แล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าคุณจะไม่ใช่หนึ่งใน 200 คนนะคะ ถึงแม้ว่าโอกาสที่พบจะน้อยมากๆ ก็ตาม แต่หากมีความผิดปกติในร่างกายอะไรบางอย่าง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะถึงมือแพทย์เร็วเมื่อไร เราก็จะใช้เวลาในการรักษาน้อยลงเท่านั้นค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก รายการ WoodyTalk, lgdalliance.org

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook