ไข้หวัด

ไข้หวัด

ไข้หวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสหวัดจะทำให้มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น(คือจมูกและคอ) ถ้าเป็นหวัดไม่มีโรคแทรกจะหายได้เองภายในเวลาประมาณ 5-7 วัน เชื้อไวรัสหวัดเป็นเชื้อที่ชอบอากาศหนาว ในฤดูหนาวคนจึงเป็นหวัดกันมาก คนที่ร่างกายอ่อนแอเมื่อได้รับเชื้อหวัดจะเป็นหวัดง่าย

อาการ

1. มีไข้ต่ำๆ ตัวร้อนหรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้
2. คัดจมูก มีน้ำมูก
3. ไอ จาม เจ็บคอ
4. อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น

โรคแทรกซ้อน ได้แก่ โพรงจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หูอักเสบ เยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ เป็นต้น

การติดต่อ ติดต่อทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย โดยที่ผู้ป่วยไอหรือจาม ทำให้เชื้อโรคกระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่รับเชื้อโรคทางปากและทางจมูก โรคหวัดถ้าเริ่มเป็นจะมีอาการไม่รุนแรงแต่ถ้ารักษาไม่ถูกต้องและร่างกายอ่อนแอมากๆอาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันโรคหวัด

การป้องกัน ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง โดย

1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ เพื่อให้ร่ายกายแข็งแรง ดื่มน้ำมากๆและหลีกเลี่ยงของหมักดอง ของมึนเมา
2. พักผ่อนให้เพียงพอ วันละอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
3. ไม่ใช้เครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่เป็นหวัด
4. ที่พักอาศัยควรมีอากาศถ่ายเทได้ดี แดดส่องถึง
5. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด
6. อย่าให้ร่างกายกระทบความร้อนจัดหรือเย็นจัดทันทีทันใด ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ
7. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า

การดูแลตนเองเมื่อเป็นหวัด

1. พักผ่อนให้เพียงพอ
2. รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย มีประโยชน์
3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย
4. งดดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่
5. รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงอากาศที่เย็นจัด
6. การปฏิบัติตัวเมื่อมีไข้
6.1 ดื่มน้ำมาก ๆ
6.2 ลดไข้ด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา (น้ำเย็นอาจหนาวสั่น)
6.3 รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ห้ามใช้กับคนที่เป็นโรคตับและคนที่แพ้ยาพาราเซตตามอลไม่ควรรับประทานเกินขนาดเพราะอาจมีผลต่อตับได้ ส่วนยาลดไข้แอสไพรินนั้นแม้จะลดไข้ดีแต่ผลข้างเคียงคือ กัดกระเพาะอาหารจึงควรหลีกเลี่ยง ในกรณีมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม รับประทานยาคลอเฟนนิรามีนครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเม็ดเมื่อมีอาการ อาการข้างเคียงของยาคือ อาการง่วง จึงห้ามขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้ามีเสมหะรับประทานยาขับเสมหะได้

หมายเหตุ ยาดังกล่าวควรเป็นยาสามัญประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

1. ถ้ามีไข้สูงหรือมีไข้นานเกิน 3 วันขึ้นไป
2. ไอมากผิดจากหวัดธรรมดา
3. อาเจียน ซึม ถ่ายเหลว มีผื่นขึ้น หรืออาการผิดปกติอื่นๆ


เอกสารอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข. (2531). หมอประจำตัวสำหรับคนไทยในต่างแดน.(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร:ชุมนุมการเกษตรแห่งประเทศไทย.

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. (2544). ตำราการตรวจโรคทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ

ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพโทร. 0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/67

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook