ทำไม "มะเร็งตับ" อัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1

ทำไม "มะเร็งตับ" อัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1

ทำไม "มะเร็งตับ" อัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในประเทศไทย เมื่อเทียบมะเร็งตับกับมะเร็งชนิดอื่นๆ พบว่ามีอุบัติการณ์สูงที่สุดอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 14.4 นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับมักเป็นผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิงถึง 2 เท่า โดยมีจำนวน 18,268 ราย และ 9,126 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ ชนิดของมะเร็งตับที่พบได้บ่อยและมากที่สุดคือ มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma – HCC) ถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตของประชากรไทยด้วยโรคมะเร็งตับยังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 อีกด้วย อาจกล่าวได้ว่ามะเร็งตับไม่ได้เป็นภัยต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมจากการเจ็บป่วยเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในวัยทำงาน ส่งผลต่อกำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งตับ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับ ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากซึ่งนำไปสู่โรคตับจากพิษสุราเรื้อรัง
  • การสูบบุหรี่
  • การออกกำลังกายไม่เพียงพอที่นำไปสู่โรคอ้วน
  • การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน

อาการที่สังเกตได้ของ มะเร็งตับ

โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งตับคือ

  • ท้องอืด ท้องมาน
  • น้ำหนักตัวลดลง และเบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งร่วมด้วยมักพบอาการสมองฝ่อ
  • ตาหรือเล็บเหลือง
  • อวัยวะภายในร่างกายบวม

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจึงทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งแพทย์สามารถใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ การถ่ายภาพรังสี และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

แนวทางรักษา มะเร็งตับ

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับแบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ได้แก่

  1. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงทั้งระหว่างการให้ยาและช่วงพักการให้ยา
  2. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านกลไกการยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หากผู้ป่วยได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  3. การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมักใช้ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด และมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี ช่วยยืดระยะเวลาปลอดโรค และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระปกเกล้า และรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า "เนื่องจากมะเร็งเซลล์ตับเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักพบในระยะลุกลาม ดังนั้น แนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่จากสถิติกลับพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดตามสิทธิประโยชน์ด้านยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาตามมาตรฐานสากลได้”

ปัญหาที่ผู้ป่วยมะเร็งตับต้องเผชิญ ระหว่างรับการรักษา

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยที่ค่อนข้างล่าช้า ส่งผลให้โรคลุกลามและการพยากรณ์ของโรคแย่ลง
  • การเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมยังถูกจำกัด เนื่องจากยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา
  • แม้ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจกับการรักษาและประสบการณ์การขอคำปรึกษา แต่ผู้ป่วยที่มีความรู้ด้านสุขภาพต้องการให้แพทย์ตอบคำถามของพวกเขามากกว่าที่เป็นอยู่
  • ข้อมูลที่ให้กับผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเผชิญความลำบากทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับต้องการความช่วยเหลือหลายด้าน นอกเหนือจากการดูแลรักษาจากแพทย์เพียงอย่างเดียว

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ กล่าวว่า “เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องพิจารณาถึงสุขภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน เศรษฐสถานะของครอบครัว และความต้องการต่างๆ เช่น การแก้ไขระบบเบิกจ่ายทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา และยานวัตกรรม เช่น ยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดหรือยามุ่งเป้า”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook