แพทย์ญี่ปุ่นแนะ 5 วิธีลดเครียดได้ง่ายๆ ฉบับวัยทำงาน

แพทย์ญี่ปุ่นแนะ 5 วิธีลดเครียดได้ง่ายๆ ฉบับวัยทำงาน

แพทย์ญี่ปุ่นแนะ 5 วิธีลดเครียดได้ง่ายๆ ฉบับวัยทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเครียดที่ไม่รู้ตัว เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจากการทำงาน ครอบครัว สังคมที่เปลี่ยนไป ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค สถานการณ์โควิด-19 และข่าวสงคราม เป็นต้น แม้ว่าความเครียดจะไม่ส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิดหรือนอนไม่หลับ แต่ก็มาในรูปแบบที่อาจทำให้กิจวัตรในแต่ละวันช้าลงจนไม่อยากทำอะไร มารู้ผลของความเครียดสะสมแบบไม่รู้ตัว และวิธีการจัดการกับความเครียดตามคำแนะนำของคุณหมอญี่ปุ่นกัน

ผลเสียของความเครียดที่สะสมต่อร่างกาย

  • รบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

เมื่อสัญญาณความเครียดถูกส่งไปยังสมอง ระบบประสาทอัตโนมัติส่วนซิมพาเทติกจะเริ่มตึงเครียดและทำงานเพื่อต่อสู้หรือหนีความเครียด หากมีความเครียดบ่อยเข้า การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติก็จะเสียสมดุล นำไปสู่การทำลายอวัยวะในระบบสำคัญของร่างกาย ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบย่อยอาหารรวมถึงความผิดปกติทางจิต

  • เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน

เมื่อมีความเครียดสะสมเรื้อรัง ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี คือ LDL ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ

เมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปกดการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันคือ NK เซลล์ (Natural killer cell) ซึ่งทำหน้าที่ในการต่อสู้กับไวรัสและเซลล์มะเร็ง ดังนั้นเมื่อมีความเครียดสะสม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะอ่อนแอลง

วิธีการจัดการกับความเครียด

เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เราควรรีบจัดการกับความเครียดเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกายไปมากกว่านี้ มาดูวิธีจัดการกับความเครียดกันค่ะ

  1. เคลื่อนไหวร่างกายและทำให้ร่างกายอบอุ่น

กายบริหารและโยคะ เป็นวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ซึ่งจะทำให้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกซึ่งเป็นระบบประสาทที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลายทำงานเด่นขึ้น ทำให้จิตใจผ่อนคลายขึ้นตามธรรมชาติ และนำไปสู่การป้องกันและผ่อนคลายความเครียดได้ดี นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มอุ่น การอาบน้ำอุ่น และการแช่เท้าในน้ำอุ่น ก็ทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้ดีเช่นกัน

  1. กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ

คนเราเมื่ออายุมากขึ้นและมีประสบการณ์ชีวิตมาก มักรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวไม่มีความสดชื่นและน่าเบื่อไปเสียหมด การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนสีลิปสติก หรืออายไลเนอร์ใหม่ จะทำให้รู้สึกว่ามีความสดชื่นขึ้นจากความงามที่แตกต่างจากเดิม นอกจากนี้ การเริ่มงานอดิเรกใหม่และการปรุงเมนูอาหารที่ไม่เคยทำมาก่อน จะช่วยเพิ่มความรู้สึกเป็นสุข ภูมิใจในความสำเร็จ และทำให้มีความคาดหมายในสิ่งต่างๆ เชิงบวกมากขึ้น

  1. เขียนบันทึกเพื่อจัดระเบียบความรู้สึกนึกคิด

นอกจากการพูดคุยปรึกษากับเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัว เพื่อบรรเทาความเครียดที่มีอยู่ในใจแล้ว การเขียนบันทึกความรู้สึกของตนเองก็เป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยให้ใจสงบขึ้น และเมื่อกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง ก็จะมองเห็นตนเองอย่างชัดเจน นอกจากการเขียนบันทึกแล้วก็สามารถเขียนโคลงกลอน วาดรูป ร้องเพลง และเล่นดนตรีได้เช่นกัน

  1. ไปซื้อของในร้านค้าที่แตกต่างจากเดิม

ความตื่นเต้นและความอยากรู้ เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกพึงใจ การไปซื้อของในร้านที่แตกต่างกันทำให้เห็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้รู้สึกสนุกและอารมณ์ดีขึ้น

  1. มีความยืดหยุ่นและคิดในเชิงบวก

คนเราไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้เก็บกดความรู้สึกที่เป็นลบ เช่น รู้สึกไม่ถูกใจ หรือรู้สึกโกรธเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ดี ความยืดหยุ่นและการคิดหาสิ่งที่สามารถทำได้ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้นจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่ตนเองและทัศนคติที่เป็นบวก ยกตัวอย่างเช่น ฝนตกหนักในวันที่มีแผนจะออกไปปิกนิกที่สวนสาธารณะ แทนที่จะหงุดหงิดที่ไม่ได้ไปข้างนอก ก็เปลี่ยนมาหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันทำได้ในบ้านเพื่อสร้างความสุขในเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัวจริงๆ หากมีความเครียดเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ลองใช้วิธีการจัดการดังกล่าวดูค่ะ เพื่อให้เรามีความสุขง่ายๆ และมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงในโลกที่วุ่นวายมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook