ยาแก้แพ้ กับข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนกิน

ยาแก้แพ้ กับข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนกิน

ยาแก้แพ้ กับข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนกิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครที่กินยาแก้แพ้บ่อยๆ ควรอ่านบทความนี้ก่อนหยิบกินในครั้งต่อไป

ยาแก้แพ้ คืออะไร

หลายคนหยิบยาแก้แพ้มากินเมื่อมีอาการ คันคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ผื่นขึ้น เป็นต้น ภ.ญ.สุขศิริ ศิริสว่างวัฒน์ แพทย์ประจำศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 1 ระบุว่า ยาแก้แพ้โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ชนิดเม็ด เหมาะสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ และชนิดน้ำเชื่อม เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบ

ยาแก้แพ้ เหมาะกับการกินเพื่อลดอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จากการแพ้อากาศ ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ รวมถึงอาการลมพิษ ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้อาหาร เป็นต้น

สรรพคุณของยาแก้แพ้

  1. บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม จากการแพ้อากาศ เช่น ยา คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)
  2. บรรเทาอาการผื่นคัน ลมพิษ  เช่นยา ฮัยดร็อกซิซีน (Hydroxyzine)
  3. ช่วยลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง จึงมักนำมากินในตอนเป็นไข้หวัด น้ำมูกไหล

ข้อควรระวังในการกินยาแก้แพ้

ภ.ญ.สุขศิริ และ ผศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงข้อควรการใช้ยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำมูก เอาไว้ดังนี้

  1. ปริมาณการกินยาแก้แพ้ ขึ้นกับตัวยา ซึ่งปริมาณของยาแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือปรึกษาร้านยาที่มีเภสัชกร
  2. ในกรณีที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ ยาแก้แพ้อาจส่งผลต่อระดับยาในเลือด แล้วก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้
  3. ยาแก้แพ้บางชนิด อาจมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง จมูกแห้ง ปัสสาวะลำบาก และง่วงซึม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานหน้าเครื่องจักร หากจำเป็นต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ควรกินยาชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง
  4. ยาแก้แพ้มักทำให้เสมหะมีความเหนียวข้นมากกว่าเดิม หากกินยาแก้แพ้ แล้วมีอาการไอมากขึ้น ควรหยุดกินยาทันที
  5. ไม่กินยาแก้แพ้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง ยาระงับประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น
  6. ไม่กินยาแก้แพ้ร่วมกับน้ำผลไม้ เพราะอาจส่งผลต่อการดูดซึมยาแก้แพ้รุ่นที่สองบางประเภทได้
  7. ยา ฮัยดร็อกซิซีน (Hydroxyzine) มีผลกดสมอง จึงไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจทำให้เด็กแคระแกร็น ไม่สูงได้
  8. กลุ่มยาแก้แพ้ที่ช่วยลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง ควรใช้กรณีที่มีน้ำมูกใสเท่านั้น และควรระวังการใช้ในเด็กเล็ก
  9. หญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรกินยาแก้แพ้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกชนิดและขนาดการกินที่เหมาะสม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook