โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก ภัยเงียบใกล้ตัวลูกรักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก ภัยเงียบใกล้ตัวลูกรักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก ภัยเงียบใกล้ตัวลูกรักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ต่อมไร้ท่อ” หนึ่งในระบบการทำงานที่สำคัญที่สุดในร่างกาย คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า หากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติแม้เพียงนิดเดียว ก็อาจส่งผลให้มีเด็กมีพัฒนาการทางร่างกายและพัฒนาการทางสมองผิดปกติ

ต่อมไร้ท่อคืออะไร?

แพทย์หญิง ปราญชลี ศรีกาญจนวัชร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ เฉพาะทางต่อมไร้ท่อมและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า ต่อมไร้ท่อ ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่สร้างและหลั่งฮอร์โมน ส่งออกนอกตัวเซลล์ผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไร้ท่อจะกระจายอยู่ทั่วร่างกายหลายตำแหน่ง ได้แก่ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ควบคุมการทำงานของร่างกายหลากหลายระบบรวมถึงการเจริญเติบโตของกระดูกกล้ามเนื้อและพัฒนาการทางสมอง ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตและการเข้าสู่วัยรุ่น ตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้น หากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติไปก็จะส่งผลต่อร่างกายของเด็ก

โรคใดบ้าง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้?

  • โรคหนุ่มสาวก่อนวัย ภาวะที่เด็กหญิงวัยก่อน 8 ขวบ และเด็กชายวัยก่อน 9 ปี มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายเข้าสู่วัยรุ่น เช่น เด็กหญิงมีเต้านม มีสิว มีขนรักแร้ หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ขวบครึ่ง ส่วนเด็กชายที่จะมีอวัยวะเพศขยายขนาด มีสิว มีขนรักแร้ เสียงแตก เป็นต้น อีกทั้งอาจพบการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและอารมณ์ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ มีสาเหตุจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์สูงมากผิดปกติ ทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานมากเกินไป พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย อาการที่พบได้บ่อยคือ คอโต ตาโปน เหนื่อยง่าย ใจสั่น เหงื่อออกมาก กินเยอะแต่น้ำหนักลด ในบางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือประจำเดือนมาผิดปกติ

  • โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะนี้สามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยจะมีอาการตัวเหลือง กระหม่อมปิดช้า ท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้พัฒนาการช้าและสติปัญญาผิดปกติ

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กและวัยรุ่น โรคนี้เกิดจากการที่สารภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายขาดอินซูลินส่งผลในระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เด็กจะมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลด และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากน้ำตาลในเลือดสูงจนเสียชีวิตได้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคนี้สัมพันธ์กับความอ้วน เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ เด็กจะมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลดเหมือนเบาหวานชนิดที่ 1 แต่มักพบคนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน หรือพบบ่อยในเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2500 กรัม หรือมากกว่า 4000 กรัม

จากวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ถูกต้องหรือผิดปกติ วิธีที่จะทราบถึงการเปลี่ยนแปลงว่าไปในทิศทางใด นอกจากการสังเกตของพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเช็คสุขภาพและร่างกายเด็กอยู่เสมอ จะช่วยให้เมื่อเกิดความผิดปกติสามารถรับรู้และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันทีท่วงทีเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายและพัฒนาการทางสมองเป็นปกติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook