"กระตุ้นสมองด้วยคลื่นไฟฟ้า" วิธีรักษาผู้ป่วย "ซึมเศร้า" ที่ดื้อต่อการรักษา

"กระตุ้นสมองด้วยคลื่นไฟฟ้า" วิธีรักษาผู้ป่วย "ซึมเศร้า" ที่ดื้อต่อการรักษา

"กระตุ้นสมองด้วยคลื่นไฟฟ้า" วิธีรักษาผู้ป่วย "ซึมเศร้า" ที่ดื้อต่อการรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่ทำลายความเป็นตัวตน พรากความสุขและรอยยิ้มของผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคและรับการรักษามาอย่างยาวนาน อาจมีประสบการณ์การดื้อยาและดื้อการรักษาได้ การรักษาแบบ TMS เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถคืนความสุข เวลา และรอยยิ้มให้ผู้ป่วยได้

นพ.ภคิน แก้วพิจิตร จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการและรักษามานานแล้วไม่หาย หรือไม่ตอบสนองการรักษา รวมถึงไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการใช้ยาได้ การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยการรักษาแบบ TMS คือ การกระตุ้นสมองโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นการรักษาแบบใหม่ทางจิตเวชที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายอมรับว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment - Resistant Depression) ได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศ และได้รับการยอมรับในการช่วยรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder; OCD) และช่วยลดความอยากบุหรี่สำหรับผู้ที่ต้องการหยุดบุหรี่ (Smoking Cessation) ได้ด้วย

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเศร้า (Antidepressants) ร่วมกับการทำจิตบำบัดที่มีประสิทธิภาพ (Psychotherapy) แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า แม้ว่าจะได้รับการปรับเปลี่ยนยาและ ทำจิตบำบัดอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา TMS มีบทบาทอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าดีขึ้นยังมีรายงานช่วยลดความกังวล เพิ่มแรงจูงใจ ช่วยลดความคิดอยากตาย และเพิ่มความจำส่งผลดีต่อศักยภาพของผู้ป่วยทั้งด้านการเรียนการทำงานตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติอย่างมีคุณค่าและมีความสุข

การรักษาด้วย TMS ผู้ป่วยเข้ารับการกระตุ้นครั้งละประมาณ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 4 - 6 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการรักษาแพทย์จะประเมินโดยละเอียดทั้งการวินิจฉัย โรคร่วม การรักษาที่ผ่านมา ข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการรักษา การหาตำแหน่งที่ใช้ในการกระตุ้นบนศีรษะในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องปรับค่าการกระตุ้นเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดและช่วยลดอาการข้างเคียง โดยแพทย์จะอธิบายขั้นตอนต่างๆ และประเมินเป็นระยะอย่างต่อเนื่องตลอดการรักษา

การรักษาด้วย TMS มีผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆ ในร่างกายน้อยมากเมื่อเทียบกับการรับประทานยา ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณหนังศีรษะที่ได้รับการกระตุ้นหรือปวดศีรษะ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการทุเลาด้วยการกินยาแก้ปวด และอาการข้างเคียงมักจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาต่อเนื่องได้โดยไม่ถูกรบกวนด้วยผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงรุนแรงที่มีรายงาน คือการชัก ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยก่อนการรักษาแพทย์จะประเมินความเสี่ยงโอกาสเกิดการชักในผู้ป่วยทุกราย กรณีที่มีความเสี่ยงถือเป็นข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีนี้

TMS แตกต่างจากการรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT; Electroconvulsive Therapy) แม้ว่าทั้งสองวิธีจะเป็นการรักษาด้วยการกระตุ้นสมอง แต่การรักษาด้วย TMS ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงด้านความจำบกพร่อง ทั้งยังช่วยส่งเสริมเรื่องความจำ ไม่มีการดมยาสลบ และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

ขณะรับการรักษาด้วย TMS ผู้ป่วยและครอบครัวจะได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยจิตบำบัด และกิจกรรมบำบัดที่หลากหลายภายในศูนย์จิตรักษ์ การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างครบวงจร โดยทีมผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเข้าใจโรคซึมเศร้าและนำไปสู่การหายป่วยได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook