หืดจริง หรือ หืดปลอม

หืดจริง หรือ หืดปลอม

หืดจริง หรือ หืดปลอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าลูกน้อยที่วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานในเวลากลางวัน กลับเริ่มมีอาการไอและเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ในเวลากลางคืน ทั้งที่ก็ไม่ได้เป็นหวัดแต่อย่างใด แถมลองฟังเสียงหายใจก็จะมีเสียงวี๊ดๆ อีกด้วย หากเกิดอาการเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน คุณพ่อ คุณแม่ นั้นชะล่าใจไม่ได้แล้ว เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าหนูน้อยกำลังตกอยู่ในสภาวะของ “โรคหืด”

โรคหืด เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัยซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ โรคหืด ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ และคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหืดมาก่อนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นโรคหืดโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวมาก่อน

 

โรคหืด คือ ภาวะที่หายใจไม่สะดวก เนื่องจากหลอดลมมีการอักเสบเรื้อรัง และไวต่อสิ่งกระตุ้นเร้าต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ และมลพิษต่างๆ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคหืด เกิดภาวะหลอดลมตีบ ไอ และเหนื่อยง่าย เป็นครั้งคราว อาการมักกำเริบในเวลากลางคืน และมีหลายระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หลอดลมที่ตีบแคบลงชั่วคราว บางครั้งอาจหายใจได้เอง แต่ภาวการณ์อักเสบเรื้อรังของหลอดลมยังคงอยู่

เนื่องจากมีการอักเสบของหลอดลมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีหลายคนที่คิดว่าเมื่อมีอาการอักเศบของหลอดลมต้องเป็นหืดแน่ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกครั้งไป

 

โรคหืดปลอม

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดหรือไม่นั้น สำหรับในเด็กเล็กเมื่อมาพบแพทย์ครั้งหรือสองครั้ง แพทย์จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคหืด เพราะอาจจะเกิดจากการติดเชื้อในระบบหายใจ ทำให้เด็กมีอาการคล้ายเป็นโรคหืดได้

นายแพทย์วรวิชญ์ เหลืองเวชการ สถาบันภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาล สมิติเวช ธนบุรี เสริมในเรื่องนี้ว่า “การปล่อยให้หลอดลมอักเสบบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจากการอักเสบแต่ละครั้งทำให้เซลล์และโครงสร้างในระบบทางเดินหายใจเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบแล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ปอดทำงานได้น้อยกว่าปกติ ถ้าพ่อแม่ใส่ใจทำให้ลูกได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่อาการยังไม่มาก จะทำให้การรักษาได้ผลและเด็กจะเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะการรักษาตอนโตนั้นทำได้ยากกว่า”เพราะฉะนั้นหากแพทย์เห็นว่ามีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคหืด แพทย์จะแนะนำการรักษาโดยเริ่มต้นรักษาด้วยยาพ่นเพื่อลดการอักเสบของทางเดินหายใจ และมีการติดตามปรับยาตามความเหมาะสม

ทั้งนี้การตัดสินใจเริ่มการรักษาแบบจริงจังเป็นประจำจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลเด็ก แพทย์บางท่านอาจตัดสินใจให้การรักษาก่อนจะรอให้เด็กมีหลอดลมอักเสบครบ 4 ครั้งในปีนั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงในข้ออื่นๆ อยู่ด้วย หรืออาการหอบนั้นรุนแรงหนักหนาถึงขั้นต้องได้ออกซิเจนหรือเข้าไอซียู การรักษาแต่เนิ่นๆ ตามเกณฑ์จะทำให้โรคไม่กำเริบบ่อยๆ และลดปริมาณยาที่ต้องใช้ในระยะยาว ช่วยให้เด็กและครอบครัวได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ สิ่งสำคัญก็คือพ่อแม่ต้องใส่ใจและเรียนรู้โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูกเกิดอาการซ้ำๆ เพราะหลายครั้งไม่ได้รักษากับแพทย์หรือโรงพยาบาลเดิม การพบแพทย์ท่านใหม่พ่อแม่ควรจะต้องเล่าประวัติการเจ็บป่วยของลูกให้ละเอียด เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยได้โดยละเอียดเนื่องจากการรักษาอาการเดิมๆ ซ้ำ โดยการเปลี่ยนสถานพยาบาลหรือแพทย์ไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้ลูกหายยากหรือทำให้พัฒนาไปสู่โรคอื่นหรืออาการรุนแรงขึ้น

 

 

โรคหืดจริง

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัยได้ดีว่าเด็กคนไหนเป็นหืดหรือไม่เป็น คือ หากมีบุคคลภายในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคภูมิแพ้หรือเป็นโรคหืด มีแนวโน้มว่าเด็กคนนั้นจะเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นนอกจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะทำการตรวจประเมินสมรรถภาพทางปอด และค้นหาสารก่อภูมิแพ้ร่วมด้วย จึงจะสามารถบ่งชี้โรคหืดได้อย่างชัดเจน

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่รักษาโรคหืด

ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี อธิบายว่า “ชั้นกล้ามเนื้อในหลอดลมจะถูกแทนที่ด้วยพังผืด หลอดลมเกิดการหนาตัว หดเกร็ง ไม่สามารถยืดหรือขยายได้อย่างที่ควรจะเป็น เกิดการเสื่อมอย่างถาวร ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดเหนื่อยง่าย และมีกำลังสำรองน้อยกว่าคนปกติ คุณภาพชีวิตไม่ดี ในกรณีที่เป็นเด็กแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้การเจริญเติบโตน้อยกว่าเกณฑ์ ตัวเล็กแกรน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง”

 

แนวทางในการรักษานั้น ต้องหาสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบ ร่วมกับการใช้ยา ซึ่งยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหืดนั้น ได้แก่ ยาพ่นบรรเทาอาการ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว และระยะเวลาสั้น ยาควบคุมอาการ เป็นยาที่มีความสำคัญ ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมการอักเสบ และป้องกันไม่ให้เกิดหืดจับ เช่น ยาพ่นในกลุ่มสเตอรอยด์ หรือยากินกลุ่ม Leukotriene

การรักษาอื่นๆ ในกรณีที่เป็นโรคหืดที่เกิดจากภูมิแพ้ คือ การให้วัคซีนภูมิแพ้ โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ทีละน้อย และค่อยๆ ปรับเพิ่มทำให้ร่างกายปรับตัว และปรับเปลี่ยนภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ ทำให้ควบคุมอาการโรคหืดได้ดี และอาจช่วยลดการใช้ยา โดยใช้เวลารักษานาน 3-5 ปี โดยแนะนำให้รักษาและติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้

 แม้โรคหืดจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากได้รับรักษาอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี ก็จะสามารถทำให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook