ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อตับแข็ง

ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อตับแข็ง

ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อตับแข็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิบัติตัวอย่างไร...เมื่อตับแข็ง

ตับ เป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณช่องท้องตอนบนค่อนไปทางด้านขวาใต้กระบังลม มีรูปร่างเป็นกลีบ 2 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่อยู่ใต้ชายโครงขวา กลีบเล็กอยู่ใต้กระดูกยอดอก ตับทำหน้าที่สร้างและควบคุมการเผาผลาญสารอาหาร เก็บสะสมพลังงานไว้ในรูปของน้ำตาล ผลิตน้ำดีที่ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ผลิตสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด สร้างภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างตลอดจนกำจัดเชื้อโรค กรองและกำจัดของเสียหรือสารพิษทุกชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แอลกอฮอล์ ยา อากาศ และอื่นๆจะต้องผ่านกระบวนการกรองสารพิษจากตับ ตับจึงเปรียบเสมือนโรงงานที่กำจัดของเสียและสารพิษที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าตับมีความผิดปกติเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตามจะเกิดผลกระทบต่อการทำงานทั้งหมดของร่างกาย

ตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะที่มีการตายของเนื้อตับจากการที่เนื้อตับถูกทำลายจากการอักเสบนานๆ จากนั้นเนื้อตับที่ตายจะกลายเป็นพังพืดที่มีลักษณะแข็งกว่าปกติส่งผลให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ


สาเหตุของการเกิดโรคตับแข็งที่สำคัญ คือ
1. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ เป็นจำนวนมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ จึงเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง
2. ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซีที่ไม่ได้รับการรักษาและดูแลตนเองที่ถูกต้อง
3. การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น
4. เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคบางอย่าง ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เป็นโรคตับแข็งได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย เบาหวาน ภาวะทางเดินน้ำดีอุดตัน อ้วนภาวะหัวใจวายเรื้อรัง และภาวะขาดอาหาร เป็นต้น

อาการ

ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน หรืออาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อยเป็นปี ต่อมาอาจเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด เท้าบวม รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวา ตัวตาเหลือง คันตามผิวหนัง ความรู้สึกทางเพศลดลง บางรายอาจมีฝ่ามือแดงผิดปกติหรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง

ในระยะท้ายของโรคจะมีอาการท้องมาน เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขา หลอดเลือดพองที่หน้าท้อง อาจมีอาเจียนเป็นเลือดสดๆเนื่องจากหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารแล้วแตก ซึ่งอาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้

ตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับและลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเหมาะสม

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง

1. งดดื่มสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด
2. รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย สะอาด และควรรับประทานครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น
3. หมั่นสังเกตสีของอุจจาระที่ถ่ายทุกครั้ง เมื่อใดที่อุจจาระเป็นสีดำเหมือนกาแฟหรือสีแดงเหมือนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด เพราะอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
4. เมื่อมีไข้ ปวดศีรษะ หรือเจ็บป่วยใดๆก็ตามควรไปพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง หรือรักษาตนเอง เพราะยาลดไข้บางชนิดอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบและมีเลือดออกมากจนเป็นอันตรายได้
5. ในรายที่มีท้องมานและบวมที่ขา ควรจะลดอาหารที่มีรสเค็มให้น้อยที่สุดหรือ ไม่กินเลย เพื่อช่วยให้อาการบวมในร่างกายลดลง
6. ญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรจะคอยสังเกตอาการของคนไข้ ถ้ามีอาการผิดปกติ ซึมลง ไม่รู้สึกตัว ตาเหลืองหรือตัวเหลืองมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
7. ปฏิบัติตนตามคำแนะนำและการรักษาของแพทย์โดยเคร่งครัด และไปพบแพทย์ตามนัดแม้จะไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม

การป้องกัน

1. งดดื่มสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีตั้งแต่แรกเกิด
3. ระมัดระวังในการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ

เอกสารอ้างอิง

ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล. (2544). ตับแข็ง.ใน เติมชัย ไชยนุวัติ ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล (บรรณาธิการ), โรคตับสำหรับประชาชน (หน้า 69-82). กรุงเทพ : ชมรมโรคตับแห่งประเทศไทย

วันทนีย์ เกรียงสินยศ. (2549). กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคตับแข็ง. ใน สุรเกียรติ อาชานานุภาพ (บรรณาธิการ), นิตยสารหมอชาวบ้าน (ฉบับที่322, หน้า 50-53 ). กรุงเทพ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.(2544).ตับแข็ง.ใน สุรเกียรติ อาชานานุภาพ (บรรณาธิการ), ตำราการตรวจโรคทั่วไป (หน้า 303-305). กรุงเทพ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.


งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และภัทราพร พูลสวัสดิ์

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/69

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook