8 ข้อห้ามของคุณแม่ที่อยาก “คลอดลูกในน้ำ”
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/0/4001/thumb.jpg8 ข้อห้ามของคุณแม่ที่อยาก “คลอดลูกในน้ำ”

    8 ข้อห้ามของคุณแม่ที่อยาก “คลอดลูกในน้ำ”

    2016-06-30T18:30:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เมื่อไม่กี่วันก่อนคงได้ยินดีกับเด็กน้อยน่ารักนามว่า “เป่าเปา” ของดาราสาว กุ๊บกิ๊บ--สุมณทิพย์ ชี (เหลืองอุทัย) แต่ที่น่าสนใจสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดทั้งหลาย เห็นจะเป็นเรื่องของการ “คลอดลูกในน้ำ” นี่แหละ (กุ๊บกิ๊บไม่ได้คลอดในน้ำนะคะ แต่ใช้อุปกรณ์ภายในห้องน้ำอย่างอ่างน้ำ โถส้วม ช่วยในการเบ่ง และจบลงที่การคลอดธรรมชาติบนเตียง) การคลอดลูกในน้ำไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของวงการแพทย์ แต่อาจจะแปลกใหม่เล็กน้อยสำหรับเหล่าคุณแม่ในเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่วิธีคลอดคงหนีไม่พ้นแค่ 2 ตัวเลือก คลอดธรรมชาติ และผ่าคลอด

     

    วิธีการคลอดลูกในน้ำ

    คุณแม่ที่กำลังเจ็บครรภ์ หรือปากมดลูกเปิดพร้อมคลอด จะต้องลงไปแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นที่อุณหภูมิของน้ำราวๆ 35-37 องศาเซลเซียส จากนั้นแพทย์จะอยู่ข้างๆ คอยให้สัญญาณคุณแม่เตรียมตัวเบ่งอีกที

     

    ข้อดีของการคลอดลูกในน้ำ

    1. น้ำอุ่นในอ่างจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี

    2. คุณแม่มีอิสระในการเปลี่ยนท่า บิดตัวต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

    3. น้ำอุ่นจะช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และตัวคุณแม่เองได้

    4. แรงพยุงตัวของน้ำ จะช่วยให้คุณแม่คลอดบุตรง่ายขึ้น เพราะกล้ามเนื้อจะขยายตัวมากขึ้น

     

    ความเสี่ยงของการคลอดลูกในน้ำ

    คุณแม่ที่คลอดลูกในน้ำอาจมีความเสี่ยงต่ออาการน้ำอุดหลอดเลือด หากน้ำเข้าสู่กระแสเลือด สายสะดืออาจขาดเมื่อนำทารกขึ้นจากน้ำ หรืออาจเกิดอาการติดเชื้อได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

     

    คุณแม่อาจไม่เหมาะกับการคลอดลูกในน้ำ หากมีอาการดังต่อไปนี้

    1. เป็นโรคติดต่อ หรือติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง หรือบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อเริมสามารถแพร่กระจายในน้ำได้ง่าย

    2. ทารกไม่อยู่ในท่าปกติ โดยเอาส่วนแขน ขา หรือก้นออก

    3. ทารกมีน้ำหนักตัวมากเกินไป

    4. คุณแม่ตกเลือดมาก หรือมีอาการติดเชื้อ

    5. คุณแม่ตั้งท้องแฝด

    6. คลอดก่อนกำหนด 2 สัปดาห์ หรือมากกว่า

    7. คุณแม่มีอาการโลหิตเป็นพิษ หรือครรภ์เป็นพิษ

    8. คุณแม่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี อาจอยู่ในกลุ่มที่ครรภ์มีความเสี่ยงสูง

     

    อย่างไรก็ตาม หากสนใจอยากคลอดลูกในน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมตัวเอง และให้แพทย์เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ พร้อมทีมช่วยเหลือให้พร้อมค่ะ ระหว่างนี้ก็ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยนะคะ

     

    ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก theasianparent.com
    ภาพประกอบจาก  Instagram ‘mmalint’