9 วิธีช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่มักเข้าใจกันผิดๆ

9 วิธีช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่มักเข้าใจกันผิดๆ

9 วิธีช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่มักเข้าใจกันผิดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากการที่แพทย์รายหนึ่งออกรายการโทรทัศน์ แนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในกรณีต่างๆ เช่น งูกัด จมน้ำ หมดสติ คลอดลูก ฯลฯ แต่ยังพบหลายประเด็นที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เฟซบุ๊ค Radklao Saisen ซึ่งเป็นแพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน หรือ ER จึงออกมาโพสลงในเฟซบุ๊ค เพื่อแก้ไขความเข้าใจของประชาชนให้ถูกต้องตรงกัน ดังนี้

 

1. สิ่งที่บอก - งูกัด ให้หาอะไรรัดเหนือบาดแผล

สิ่งที่ถูกต้อง - ไม่ต้องหาอะไรมารัดหรือขันชะเนาะ ให้พยายามให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่งๆ ขยับน้อยที่สุด ไม่ต้องเอาเชือกรัด ไม่ต้องดูดเลือดออกจากแผลแบบพระเอกในละคร

 

2. สิ่งที่บอก - งูแมวเซากัด พิธีกรบอกจะมีอาการง่วงๆ ให้ปลุกให้ตื่นถ้าหลับอาการจะแย่ แต่คุณหมอก็เออออ

สิ่งที่ถูกต้อง - งูแมวเซามีพิษต่อระบบเลือด มีผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ จึงอาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติได้ แต่ไม่เกี่ยวกับทำให้ง่วง แต่บางคนที่โดนงูกัดแล้วมีอาการเหมือนง่วงนอน ที่จริงแล้วเป็นงูพิษจำพวกที่เป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้กระทั่งหนังตา จึงทำให้หนังตาตก ตาจะปิดลืมตาไม่ขึ้นดูเหมือนคนง่วงนอน แต่ความจริงไม่ได้ง่วง มัวแต่ปลุกไม่ช่วยอะไร

 

3. สิ่งที่บอก - เด็กมีไข้ ใช้ cool fever

สิ่งที่ถูกต้อง - cool fever แทบไม่ช่วยลดไข้เลย ถ้าอยากให้ไข้ลดต้องเช็ดตัวลดไข้ให้เด็กด้วย ซึ่งการเช็ดตัวที่ถูกต้องก็มีรายละเอียดอีก

 

4. สิ่งที่บอก - คนไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้เปิดทางเดินหายใจและเป่าปากอันดับแรก จากนั้นให้คลำชีพจร ถ้าไม่มีชีพจรค่อยกดหน้าอก

สิ่งที่ถูกต้อง - เจอคนไม่รู้สึกตัว ให้เข้าไปตบไหล่ดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่ และดูการหายใจ ถ้าไม่ตอบสนองและไม่หายใจหรือแม้กระทั่งหายใจแต่ลักษณะการหายใจผิดปกติ ให้ทำการกดหน้าอกเลยทันทีเป็นอันดับแรก อย่ามัวแต่เปิดทางเดินหายใจและเป่าปากอยู่ ส่วนเรื่องการคลำชีพจรนั้น ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่เคยฝึกมา ไม่ต้องคลำชีพจร เพราะความคลาดเคลื่อนมีสูงมาก ไม่แนะนำให้คลำ

 

5. สิ่งที่บอก - ตำแหน่งกดหน้าอกบอกให้เหนือลิ้นปี่สองนิ้ว และเยื้องไปทางซ้ายอีกสองนิ้วเพราะหัวใจอยู่ทางซ้าย

สิ่งที่ถูกต้อง - ตำแหน่งที่ถูกต้องในการกดหน้าอกคือ ให้ตำแหน่งของส้นมือ อยู่ตรงกึ่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนม 2 ข้าง (ระดับเดียวกับหัวนม) ไม่ต้องเยื้องไปฝั่งไหนทั้งนั้น ให้วางตรงกลาง

 

6. สิ่งที่บอก - เด็กจมน้ำ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจับพาดบ่าก็ได้แต่ไม่แนะนำ

สิ่งที่ถูกต้อง - ถ้ารู้สึกตัวดีไม่ต้องทำอะไร ถ้าไม่รู้สึกตัว ให้ทำตามที่เขียนไว้ข้อเมื่อกี้ คือกดหน้าอก cpr ค่ะ มีน้ำทะลักออกมาทางปากหรือไม่ เราไม่สน ไม่ได้เกี่ยวกับการมีหรือรอดชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงน้ำที่กระฉอกจากกระเพาะอาหารออกมาทางปากเท่านั้น

 

7.  สิ่งที่บอก - ถ้ามีคนสำลัก แล้วไม่รู้ตัว ใช้ปลายนิ้วดันลิ้นปี่

สิ่งที่ถูกต้อง - ถ้าคนไข้สำลักอาหารหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องดูว่าคนไข้ยังส่งเสียงได้หรือไม่ ถ้าได้แปลว่าของสิ่งนั้นยังไม่ได้อุดกั้นหลอดลมทั้งหมด ให้บอกผู้ป่วยให้พยายามไอออกมาแรงๆ

แต่ถ้าไม่มีเสียงแล้ว แปลว่าอุดกั้นเต็มท่อหลอดลมแล้วให้ทำการช่วยเหลือทันที โดยทำได้ 2 ท่า คือท่านอนแล้วกดที่ลิ้นปี่ หรือท่านั่งหรือยืนโดยผู้ช่วยเหลือโอบผู้ป่วยจากทางด้านหลัง

แต่ถ้าสำลักแล้ว ไม่รู้สึกตัวแล้ว ให้กดหน้าอก หรือทำ cpr ไปเลย

การช่วยให้สิ่งแปลกปลอมที่สำลักเข้าไปให้ออกมานั้น ท่านอน เรียก abdominal thrust ลองเสิร์ชดูคลิปใน internet ได้

เราจะวาง"ส้นมือ" ใต้ลิ้นปี่ แล้วดันขึ้น (แต่ไม่ใช้ปลายนิ้วดันแบบในรายการนะคะ) ให้แรงดันจากมือเรา ดันสิ่งแปลกปลอมขึ้นมาจากหลอดลมให้ออกทางปาก

ส่วนการช่วยเอาสิ่งแปลกปลอมออกในท่าที่ผู้ช่วยเหลือโอบผู้ป่วยจากด้านหลัง เรียกว่า Heimlich maneuver เสิร์ชดูได้ ข้อสังเกตคือ เราจะไม่ใช้มือสองข้างสอดประสานกันแบบนั้น แต่เราจะใช้มือข้างที่ถนัด กำเป็นกำปั้น หันฝั่งนิ้วโป้งเข้าหาลำตัว ส่วนมืออีกข้างก็วางทับลงบนกำปั้นนั้นอีกที

 

8. สิ่งที่บอก และสิ่งที่แก้ไข

เด็กเล็กเมื่อมีอาการสำลัก เพราะสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ การวางเด็กพาดคว่ำหน้าและลำตัวลงบนท่อนแขน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่นิ้วมือเราห้ามเอารัดคอเด็ก จากนั้นอย่าใช้ปลายนิ้วกดกลางหลัง ให้ใช้ "ฝ่ามือ" "กระแทก" (ไม่ใช่แค่กดนะคะ) ลงไปกึ่งกลางระหว่างกระดูกสะบักให้แรงๆ เลยนะคะ ทำเบาๆ สิ่งแปลกปลอมไม่ออก และเด็กตายได้เลยนะคะ ขั้นตอนหลังจากนี้มีอีก เสิร์ชดู 5 back blows 5 chest thrusts

 

9. เรื่องคลอด

สิ่งที่บอก ห้ามเบ่ง ควรไปคลอดที่ รพ. ซึ่งเห็นด้วยค่ะ แต่ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยคือ ถ้าหัวเด็กโผล่ออกมาแล้ว คงไม่แนะนำให้กลั้นคาไว้แบบนั้นนะคะ ให้เบ่งคลอดออกมาเลย เพื่อป้องกันภาวะทารกขาดอากาศหายใจค่ะ

 

นอกจากนี้ คุณหมอยังทิ้งท้ายไว้ว่า หากเกิดกรณีฉุกเฉิน แล้วไม่ทราบวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องจริงๆ สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 แต่โทรเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ห้ามโทรเล่นนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook