ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิบัติตัวอย่างไร...ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า

 

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบี่ส์ไวรัส เชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์บริเวณที่ถูกกัด และจะเดินทางไปตามเส้นประสาทสู่สมองพร้อมทำลายเซลล์สมองทำให้เกิดอาการของโรคเกิดขึ้น ที่สำคัญเมื่ออาการของโรคเกิดขึ้นแล้วยังไม่สามารถรักษาให้หายได้และต้องเสียชีวิตทุกราย โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ทุกภาค ทุกฤดูกาลและทุกเดือน ไม่เฉพาะแต่ในฤดูร้อนเท่านั้น

 

การติดต่อ โรคนี้ติดต่อมาสู่คนโดยสุนัขซึ่งพบได้บ่อยที่สุด รองลงมาคือแมวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยคนถูกสัตว์ดังกล่าวกัด ข่วน เลียบริเวณที่มีแผล หรือน้ำลายจากสัตว์กระเด็นเข้าเยื่อเมือกบุตา จมูก ปาก จากนั้นเชื้อจะฟักตัวระยะหนึ่งจึงจะแสดงอาการของโรคโดยเฉลี่ยใช้เวลา 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อ ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป อายุของผู้ที่ถูกกัด และความรุนแรงของเชื้อ เช่น ถ้าแผลใหญ่ ลึก มีหลายแผลหรือบริเวณที่ถูกกัดอยู่ใกล้สมองจะมีโอกาสที่เชื้อเข้าไปได้มากและถึงสมองได้เร็ว

 

อาการของโรคที่พบในสุนัข มี 2 แบบคือ แบบดุร้ายและแบบเซื่องซึมโดยแสดงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ

1 ระยะเริ่มแรก สุนัขจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป เริ่มมีไข้ ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ กินข้าวกินน้ำน้อยลง

2 ระยะตื่นเต้น เป็นระยะที่สุนัขเริ่มมีอาการทางระบบประสาท คือ กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง ตื่นเต้น หงุดหงิด กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง

ระยะอัมพาต มีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้เลย ขาอ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ได้ อัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็ว และตายในที่สุด

 

อาการของโรคที่พบในคน มี 2 แบบคือ แบบดุร้ายก้าวร้าวและแบบอัมพาต โดยแสดงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะอาการนำ คือ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร เจ็บคอคล้ายเป็นไข้หวัด คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายอารมณ์เปลี่ยนแปลง และอาการที่พบบ่อยคือ คันบริเวณที่ถูกกัดหรือทั่วทั้งแขนขาข้างนั้น หรือคันทั้งตัว ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 – 10 วัน

2. ระยะมีอาการทางระบบประสาท คือ จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย และอาการที่เด่นชัดคือ

- อาการกลัวลม จะแสดงอาการสะดุ้ง ผวา เมื่อถูกลมพัด
- อาการกลัวน้ำ เริ่มจากรู้สึกแน่นตึงในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เมื่อดื่มน้ำจะสำลักออกทางปาก จมูก จึงเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า โรคกลัวน้ำ
- อาการประสาทไว ผู้ป่วยจะสะดุ้ง เกร็งต่อสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง
- อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน ผู้ป่วยจะกระวนกระวาย ตื่นกลัว บางคนแสดงอาการดุร้าย น่ากลัวและร้องโหยหวนคล้ายเสียงเห่าหอนของสุนัข และอาจตามมาด้วยอาการอื่นๆ เช่น อัมพาต ซึม ไม่พูด น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก

3. ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในที่สุด

 

วิธีการหลีกเลี่ยงและป้องกันโรค

1. ป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยการพาสัตว์ เช่น สุนัขของตนไปฉีดวัคซีน

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ กัดหรือเลีย

3. ถ้าป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่สำเร็จยังถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือเลียจนได้ ต้องรู้วิธีป้องกันตนให้รอดพ้นจากการเป็นโรค

 

การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสุนัขกัด

1. รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่มีสบู่ให้ใช้น้ำชะล้างหลายๆ ครั้ง และทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิดอนไอโอดีน

2. ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและโรคบาดทะยัก

3. กรณีทราบตัวสัตว์ เจ้าของสัตว์ควรกักขังและเฝ้าดูอาการสัตว์อย่างน้อย 10 วัน ถ้าสัตว์ตายควรนำสัตว์ส่งตรวจเพื่อหาเชื้อ

 

การฉีดวัคซีน ปัจจุบันไม่ต้องฉีดรอบสะดือเหมือนแต่ก่อน ฉีดเพียง 5 เข็มและฉีดได้ทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ สำหรับปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนไม่มีรายงานการแพ้รุนแรงอาจพบอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือมีผื่นคันบริเวณที่ฉีด ถ้ามีไข้หรือปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาจหายเองได้หรือให้การรักษาตามอาการ

สถานที่รับฉีดวัคซีน สถานเสาวภา สภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ

* ควรจำไว้ว่า ไม่ว่าจะเฝ้าดูอาการสัตว์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ผู้ถูกกัดควรมาโรงพยาบาลทันที ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สัตว์มีอาการก่อนเพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook