6 เครื่องใช้สำนักงาน ทำคนออฟฟิศป่วย

6 เครื่องใช้สำนักงาน ทำคนออฟฟิศป่วย

6 เครื่องใช้สำนักงาน ทำคนออฟฟิศป่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำไมคน ออฟฟิศ ป่วยบ่อย?

ห้องทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของคน ออฟฟิศ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ ก็คือสารเคมีในที่ทำงาน ที่มาจากสภาพแวดล้อมภายในห้องทำงาน

 

1. เครื่องถ่ายเอกสาร

ก๊าซโอโซนที่เกิดขึ้นจากการอัดและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ลูกกลิ้งกระดาษ และบางส่วนเกิดจากการปล่อยแสงเหนือม่วง ที่มาจากหลอดไฟพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งแสงเหนือม่วงจะทำให้ก๊าซออกซิเจนรวมกันเป็นโอโซนได้ง่ายขึ้น แต่ในสภาพปกติหรือในสำนักงานทั่วไป โอโซนจะสลายตัวเป็นออกซิเจนภายใน 2-3 นาที ซึ่งอัตราการสลายตัวจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา อุณหภูมิ (อุณหภูมิสูงสลายตัวได้เร็วขึ้น) และการระบายอากาศในห้องนั้น

ผงหมึกที่ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบแห้ง เป็นหมึกประเภทผงคาร์บอนดำ 10% ผสมกับพลาสติกเรซิน ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น สิ่งที่อาจเป็นอันตรายของเครื่องถ่ายเอกสาร คือความร้อนจากการถ่ายเอกสารเป็นเวลานานในสถานที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ และเรื่องเสียงที่รบกวน เพราะเครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่อาจดังถึง 80 เดซิเบล


อาการ

- ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆได้ มีอาการระคายคอ ไอ หายใจสั้น วิงเวียน และปวดศีรษะได้ เนื่องมาจากการสัมผัสก๊าซโอโซนนานๆ

- ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ มีการไอและจาม และเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ รวมทั้งอาจก่อมะเร็ง จากการสูดดมฝุ่นผงหมึกเป็นระยะเวลานาน

- แสงเหนือม่วงเป็นอันตรายต่อตา การสัมผัสแสงจ้าเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดตาและปวดศีรษะ

 

วิธีป้องกัน

  ถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบให้สนิท หากไม่สามารถปิดได้ควรหลีกเลี่ยงการมองที่กระจกต้นฉบับ

- สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก

- ผงหมึกที่ใช้แล้วนำไปกำจัดลงในภาชนะปิดมิดชิด

- มีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดเครื่องถ่ายเอกสารเป็นประจำ

- ไม่ควรตั้งเครื่องถ่ายเอกสารในห้องทำงาน ควรจัดแยกไว้ในที่เฉพาะ หรือไว้ที่มุมห้องไกลจากคนทำงาน และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม อาจติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ในห้องถ่ายเอกสาร

- สังเกตและเลือกใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่มีแผ่นกรองประเภท Activated Carbon Filter เพื่อสลายโอโซนก่อนปล่อยออก จึงปลอดภัย

 

2. น้ำยาลบคำผิด และกาว

น้ำยาลบคำผิด และกาววิทยาศาสตร์ ถือเป็นสารระเหย เพราะมีทินเนอร์และสารประกอบอินทรีย์เคมีชนิดต่างๆ ประกอบอยู่ ได้แก่ สารโทลูอีน เบนซีน และสไตลีน ซึ่งมีกลิ่นพิเศษเฉพาะ และระเหยปะปนในอากาศ ได้ง่าย


อาการ

- ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด มีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง และเสียการทรงตัวได้ เมื่อสูดดมในระยะสั้น

- ทำให้โครโมโซมในเม็ดเลือดผิดปกติจนถึงขั้นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด หญิงมีครรภ์อาจแท้งหรือลูกออกมาพิการได้ หากสูดดมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

- หากมีการกลืนสารเหล่านี้เข้าไป และมีการสำลักร่วมด้วย ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบได้

 

วิธีป้องกัน

หลีกเลี่ยงการสูดดม และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

 

3. เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน

วัสดุเครื่องใช้สำนักงานต่างๆ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์จากไม้ มักพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง นอกจากนี้ยังมีสารตัวทำละลายที่อยู่ในสี กาว และสารเคลือบเงา เช่น โทลูอีน ไซลีน และเอธิลเบนซิน เป็นต้น และที่สำคัญอาจมีสีที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ หลุดลอกจากเฟอร์นิเจอร์หรือผนังอาคารปะปนกับฝุ่นผงในอากาศ


อาการ

- สารฟอร์มาลดีไฮด์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา หรือระบบทางเดินหายใจได้ และหากเป็นระยะเฉียบพลัน ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายอย่างรุนแรง เช่น ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้

- แต่เมื่อสูดดมโทลูอีนและไซลีน จะมีอาการเบื้องต้นคือ ทำให้ระคายเคืองจมูกและลำคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หากสูดดมในระดับความเข้มข้นสูง ๆ จะทำให้มึนศีรษะ เป็นลม อาจเสียชีวิตได้ และมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ หากสูดดมระยะยาว อาจส่งผลเรื้อรัง ได้แก่ การทำลายไขกระดูก เนื่องจากทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง ทำลายตับ ทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ความจำเสื่อม สมาธิสั้น และอาจมีผลต่อสมอง รวมทั้งอาจทำลายเยื่อบุตา นอกจากนี้ ในโทลูอีนมีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการทรงตัว

- สารตะกั่วก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ ข้อมือตก มีผลต่อสภาพจิตใจ เกิดอารมณ์เศร้าหมอง เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับสารตะกั่วติดต่อเป็นระยะเวลานานและปริมาณมาก จนมีผลเฉียบพลัน คือ ปวดท้องรุนแรง ทำลายสมอง ไต ระบบการย่อยอาหาร และระบบการได้ยิน

 

วิธีป้องกัน

หลีกเลี่ยงการสูดดม ทำความสะอาดที่ทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

 

4. แผ่นฝ้าเพดาน และใยฉนวนกันความร้อน

แผ่นฝ้าเพดาน หรือวัสดุฉนวนกันความร้อนและเสียง ซึ่งทำมาจากแร่ใยหิน หรือที่เรียกว่าแอสเบตอส


อาการ

ทำให้เกิดการหายใจลำบาก เกิดพังผืดในปอด จนเกิดเป็นโรคปอดจากแร่ใยหินหรือโรคแอสเบสโตซีส ซึ่งจะไม่ได้แสดงอาการทันที แต่จะเกิดเมื่อสะสมเป็น 20-30 ปีให้หลัง และอาจลามจนเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้องได้


วิธีป้องกัน

ทำความสะอาดห้องทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี

 

5. ฝุ่นละอองในสำนักงาน

ฝุ่นเหล่านี้อาจเกิดจากผงหมึกที่กระจายออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ฝุ่นเยื่อกระดาษที่อาจพบตามเอกสารต่างๆ บนโต๊ะทำงาน หรือกระดาษปิดผนังหรือวอลล์เปเปอร์ รวมทั้งพรมที่ทำจากใยสังเคราะห์ก็เป็นที่เก็บกักฝุ่นเป็นอย่างดี โดยฝุ่นเหล่านี้สามารถเข้าไปสะสมในปอดได้


อาการ

- มีอาการไอ จาม และระคายเคืองต่อตา จมูกและคันผิวหนัง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการจะกำเริบขึ้น มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ

- หากเป็นเรื้อรังก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้เชื้อราที่ปะปนมากับฝุ่นยังทำให้เกิดโรคชนิดอื่นๆ ได้อีก

 

วิธีป้องกัน

- ควรจัดวางโต๊ะทำงานไม่ให้หนาแน่น

- ทำความสะอาดห้องและโต๊ะทำงานเป็นประจำ

- แบ่งโซนเครื่องถ่ายเอกสารหรือหนังสือให้อยู่ในมุมที่ห่างไกลจากคนทำงาน

- และสิ่งสำคัญ จัดให้ห้องทำงานมีระบบระบายอากาศที่ดี

 

6. คาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอคไซด์

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มักจะเกิดมากในห้องที่ปิดอับ ไม่มีหน้าต่าง หรือการถ่ายเทอากาศไม่ดี ส่วนก๊าซคาร์บอนมอนนอคไซด์ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ทำงานอยู่ติดถนน มีปริมาณก๊าซจากไอเสียรถยนต์ซึ่งมีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เข้ามาในห้องปริมาณมาก และขาดการระบายอากาศที่ดี


อาการ

- ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หายใจหอบสั้น คลื่นไส้ ง่วงซึม และการตัดสินใจไม่ค่อยเด่นชัด มีความสับสน ซึ่งก่อความไม่สบายในการทำงาน ถ้าได้รับสารเหล่านี้ในปริมาณน้อยๆ

- ในระดับความเข้มข้นที่สูงมากๆ ก็ทำให้ประสาทมึนงง ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้


วิธีป้องกัน

หลีกเลี่ยงการสูดดม และจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี

 

นอกจากนั้น ยังมีอันตรายจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผลการศึกษาของนักวิจัยในสวีเดนระบุว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ โดยสารเคมีที่ชื่อ Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในจอวีดีโอ หรือปากกาเคมี ตลอดจนสเปรย์ปรับอากาศ ซึ่งมีกลิ่นจากสารเคมี ใช้ไปนานๆ ย่อมระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและตาได้ เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook