ไขข้อสงสัย "ยาล้างไต" ดีจริงหรือทำร้ายไตหนักกว่าเดิม?

ไขข้อสงสัย "ยาล้างไต" ดีจริงหรือทำร้ายไตหนักกว่าเดิม?

ไขข้อสงสัย "ยาล้างไต" ดีจริงหรือทำร้ายไตหนักกว่าเดิม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยาล้างไต กับความเข้าใจผิดๆ

เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

บ่อยครั้งที่มีผู้ป่วยมาขอซื้อยาล้างไตที่ร้านยาด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น บางรายมีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังและกลัวว่าจะเป็นโรคไต จึงอยากได้ยาล้างไตเพื่อล้างทำความสะอาดและขับสารพิษออกจากไต หรือบางรายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงอยากได้ยาล้างไตโดยเข้าใจว่าจะสามารถล้างภายในอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะให้สะอาดได้ อย่างไรก็ตาม “ยาล้างไต” ที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากนั้น จริงๆแล้วเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับ “ขับปัสสาวะและบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ” เนื่องจากในตำรับยาประกอบด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และขับปัสสาวะ ดังแสดงในตาราง นอกจากนี้ ยังมีการเติมสีเข้าไป เช่น เมทิลีนบลู (methylene blue หรือ methylthioninium chloride) ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงิน เมื่อรับประทานยา ปัสสาวะจะมีสีน้ำเงินหรือเขียว ขึ้นกับสีพื้นเดิมของปัสสาวะว่าใสหรือเหลือง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่ายาไปขับสารพิษหรือสิ่งสกปรกภายในไตและทางเดินปัสสาวะออกมา

เมื่อกินยาล้างไตที่ขายตามร้านค้า ... นี่คือสิ่งที่จะดูดซึมเข้าไปในร่างกายของคุณ

Posted by ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว on Friday, July 31, 2015

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ายาสูตรผสมนี้ไม่มีสรรพคุณช่วยล้างไตแต่อย่างใด จึงไม่ควรเรียกว่า “ยาล้างไต” นอกจากนี้ หากใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้

1.ไม่ได้ผลในการรักษาโรค เช่น หากอาการปวดเอว หรืออาการปัสสาวะขัดนั้นมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ยานี้คงไม่สามารถรักษาให้หายได้

2.ได้รับผลเสียจากยา เช่น สารเมทิลีนบลู ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องรุนแรง และไม่ควรใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย อีกทั้ง สารดังกล่าวอาจตีกับยาบางชนิด เช่น หากใช้ร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาต้านอาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสแพ้ส่วนประกอบอื่นๆในตำรับยาอีกด้วย 

ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและมีความประสงค์ที่จะใช้บริการร้านยา ผู้ป่วยควรแจ้งอาการเจ็บป่วยที่เป็น ให้เภสัชกรทราบ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการรักษาและการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหรือโรคนั้นๆ

เอกสารอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลทะเบียนตำรับยา สำนักยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. Available from: http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp
  2. Head KA. Natural approaches to prevention and treatment of infections of the lower urinary tract. Altern Med Rev. 2008;13(3):227-244.
  3. Srinivasan K. Biological activities of pepper alkaloids. In: Natural products. Ramawat KG and Me´rillon JM, eds. New York: Springer-Verlag Berlin Heidelberg; 2013:1397-1437.
  4. Gemmill CL. The pharmacology of squill. Bull N Y Acad Med. 1974;50(6):747-750.
  5. Butler AR, Feelisch M. Therapeutic uses of inorganic nitrite and nitrate: from the past to the future. Circulation. 2008;117(16):2151-2159.
  6. Ginimuge PR, Jyothi SD. Methylene blue: revisited. J Anaesthesiol Clin Pharmacol. 2010;26(4):517-520.

ขอบคุณข้อมูลจาก  pharmacy.mahidol.ac.th
วิดีโอจาก เฟซบุ๊คเพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
ภาพประกอบ istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook