7 สัญญาณอันตราย “กรวยไตอักเสบ”

7 สัญญาณอันตราย “กรวยไตอักเสบ”

7 สัญญาณอันตราย “กรวยไตอักเสบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายๆ ครั้ง วิถีดำเนินชีวิตที่รีบเร่ง ทำงานหนักจนไม่ได้มีเวลาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้โรคภัยถามหากันได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วัยรุ่น วัยทำงาน เริ่มมีโรคแปลกๆ เข้ามาทักทายเร็วขึ้นเรื่อยๆ อีกโรคหนึ่งที่เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “กรวยไตอักเสบ” คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอันตรายโรคนี้หรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบมาฝากค่ะ

 

กรวยไต คืออะไร?

กรวยไตเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนต่อกับท่อไต ทำหน้าที่รองรับน้ำปัสสาวะที่กรองแล้วจากเซลล์ของไต จากนั้นจึงนำส่งไปที่ท่อไต

 

กรวยไตอักเสบ คืออะไร?

กรวยไตอักเสบ เป็นภาวะที่บริเวณกรวยไตติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเป็นได้ทั้งกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน ที่อาการรุนแรงกว่า แต่สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง ที่อาการอาจไม่แสดงชัดเจน เป็นๆ หายๆ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังเป็นโรคนี้อยู่ นานวันเข้าก็มีอาการเรื้อรังโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารักการรักษาอย่างถูกวิธี อาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้เช่นกัน

 

กรวยไตอักเสบ มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุของโรคกรวยไตอักเสบมาจากบริเวณกรวยไตติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเชื้ออีโคไล ซึ่งพบได้จากอุจจาระของคนทั่วไป นอกจากนี้ใครที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำ อาจเกิดจากเชื้อราที่แพร่กระจายบริเวณผิวหนังรอบๆ ท่อปัสสาวะ ผ่านท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ไปจนถึงกรวยไต

นอกจากนี้ผู้ที่กลั้นปัสสาวะนานๆ จะทำให้ปัสสาวะแช่อยู่ในทางเดินปัสสาวะนานกว่าปกติ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนอาจลามไปถึงกรวยไตอักเสบได้เช่นกัน

 

กรวยไตอักเสบ ใครมีความเสี่ยงบ้าง?

กรวยไตอักเสบ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาจจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื้องอก หรือมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เคยสวนปัสสาวะมาก่อน เป็นโรคเบาหวาน หรือทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็มีความเสี่ยงต่อโรคกรวยไตอักเสบได้เช่นกัน

 

 

กรวยไตอักเสบ มีอาการอย่างไร?

  1. ปวดบริเวณสีข้างของลำตัว หรือบั้นเอวอย่างเฉียบพลัน ส่วนมากจะปวดเพียงข้างใดช้างหนึ่ง

  2. อาการปวด อาจปวดร้าวมาจนถึงขาหนีบ

  3. มีไข้สูง หนาวสั่นเป็นพักๆ คล้ายเป็นโรคมาลาเรีย

  4. ปัสสาวะสีขาวขุ่น หรือบางครั้งอาจเป็นเลือด มีหนอง

  5. ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีอาการขัดเบา

  6. ปวดแสบเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะออกมาน้อย

  7. หากมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย อาจมีหนอง หรือมีสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะเพศ เมื่อเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

 

วิธีป้องกัน โรคกรวยไตอักเสบ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อยจนเกินไป วันละ 8-10 แก้ว หรือบวกลบได้อีกเล็กน้อย

  • ไม่กลั้นปัสสาวะนานๆ

  • นั่งบนโถ จะทำให้ปัสสาวะออกมาได้มากกว่าการยืนบนโถ หากปัสสาวะไม่สุด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อีกเช่นกัน

  • รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ

  • ไม่เช็ดกระดาษชำระจากทวารหนัก ไปที่อวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้ออิโคไลจากอุจจาระ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับตัวเอง

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรักษาสุขอนามัยให้ดี ไม่กลั้นปัสสาวะนานๆ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน ง่ายๆ เท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคกรวยไตอักเสบได้แล้วล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook