"ขนมเปี๊ยะ" พบสารกันบูดทั้งที่ไม่ระบุบนฉลาก

"ขนมเปี๊ยะ" พบสารกันบูดทั้งที่ไม่ระบุบนฉลาก

"ขนมเปี๊ยะ" พบสารกันบูดทั้งที่ไม่ระบุบนฉลาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะ 12 ยี่ห้อดัง ร้อยละ 90 ที่ตรวจมีสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน มีเพียงยี่ห้อเอสแอนด์พีที่ไม่พบสารกันบูด จากการสุ่มทดสอบ 13 ยี่ห้อของนิตยสารฉลาดซื้อ ปริมาณสารกันบูดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด

ศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สุ่มทดสอบสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกและซอร์บิกในขนมเปี๊ยะจำนวน 13 ตัวอย่าง พบมีเพียง 1 ตัวอย่าง คือ ขนมเปี๊ยะเหลืองจากร้าน เอส แอนด์ พี ที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดเลย ส่วนที่เหลืออีก 12 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ

1. อื้อ เล่ง เฮง

2. ครูสมทรง

3. แต้เล่าจิ้นเส็ง

4. ขนมบ้านอัยการ

5. Baan Suntiras

6. แต้ เซ่ง เฮง

7. ขนมเปี๊ยะปรุงพิเศษ ท่าดินแดง

8. วิคตอรี่ เบเกอรี่

9. ร้านสิงห์เพชร

10. ร้านหมู

11. ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง)

12. กาโตว์ เฮาส์

พบการปนเปื้อนของสารกันบูดทั้งหมด จากการสุ่มทดสอบครั้งนี้พบว่า ปริมาณของวัตถุกันเสียในขนมเปี๊ยะ อยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ระหว่าง 12.85 - 58.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เฉลี่ยที่ 20.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ คือ สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

 

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณสารกันบูดที่ตรวจพบในตัวอย่างเกือบทั้งหมดจะมีปริมาณไม่มากนัก และไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ยังพบปัญหาอื่น คือ มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ผลทดสอบพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้นอาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบ โดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตอาจจะมีการใส่สารกันบูดลงในส่วนผสมด้วยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนี้ยังมี 2 ตัวอย่างมีการแสดงฉลาก มีเลขที่ อย. แต่ไม่แสดงข้อมูลว่าใช้สารกันบูด คือ 1. ขนมเปี๊ยะถั่วล้วน ยี่ห้อขนมบ้านอัยการ และ 2. ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็ม ยี่ห้อ Baan Suntiras นอกจากนี้ยังมีขนมเปี๊ยะที่นำมาสุ่มทดสอบ ไม่มีการระบุวันที่ผลิตและหมดอายุหรือไม่มีการแสดงฉลาก เนื่องจากตามกฎหมายอนุโลมให้ร้านค้าที่มีลักษณะแบบทำไปขายไป ไม่ต้องมีฉลากกำกับ ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องถามผู้ผลิตว่าใส่สารกันบูดหรือไม่ด้วยตนเอง สำหรับการประมาณอายุของขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาโดยที่ไม่แสดงวันผลิตและวันหมดอายุนั้น หากมีการใช้สารกันบูดสามารถคาดคะเนได้โดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่มีการแสดงฉลาก ซึ่งทำให้คาดได้ว่า ขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้น่าจะมีอายุประมาณ 1-2 เดือน

 

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่เราสุ่มทดสอบนั้น ยี่ห้อที่แจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด แต่พบสารกันบูด อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) ที่ว่าด้วย อาหารปลอม ซึ่งรวมถึงอาหารฉลากที่มีฉลากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (มาตรา 27(4) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 59 ต้องระวาง “โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท” ส่วน อีก 2 ตัวอย่างที่ไม่ได้แสดงบนฉลากว่า มีการใช้สารกันบูด แต่ตรวจพบอาจจะเข้าข่ายมีความผิดเรื่องการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 6 (10) โดยมีโทษตามมาตรา 51 “โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท” พร้อมขอให้ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะ ตรวจสอบและสอบถามข้อมูลจากแหล่งวัตถุดิบ ว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่เพื่อลดปัญหาสารกันบูดตกค้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook