แผลแมวข่วนอย่าชะล่าใจ เสี่ยง "เนื้อเน่า" ลุกลามเร็ว

แผลแมวข่วนอย่าชะล่าใจ เสี่ยง "เนื้อเน่า" ลุกลามเร็ว

แผลแมวข่วนอย่าชะล่าใจ เสี่ยง "เนื้อเน่า" ลุกลามเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยชายถูกแมวข่วนป่วยเนื้อเน่าไม่ได้ถูกตัดขา เตือนอย่าชะล่าใจหากถูกสุนัข-แมวกัดหรือข่วน รีบล้างแผลและพบแพทย์ทันที

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวผู้ป่วยชายไทย อายุ 63 ปี ถูกแมวข่วนแล้วไม่ได้ล้างทำความสะอาด ต่อมามีอาการไข้ หนาวสั่น ขาบวม และมีบาดแผลเน่าลุกลามนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยถูกแมวกัดบริเวณขาขวามา 1 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล เมื่อเข้ารับการรักษาแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยพบรูแผลเล็กๆบริเวณเท้าขวา ผลเลือดพบการทำงานของไตบกพร่อง น้ำตาลในเลือดไม่สูง เกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติ แพทย์จึงได้ทำการผ่าตัด 2 ครั้งในเวลา 3 วัน เนื่องจากแผลมีการลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้ แพทย์ได้ฉีดวัดซีนป้องกันบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

จากการวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสไซติส (Necrotizing fasciitis) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด เมื่อเชื้อโรคเข้าไปในแผลจะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย ส่วนผู้ป่วยรายนี้ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีและไม่ได้ถูกตัดขาตามที่มีข่าวลือ แต่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกหากมีเนื้อตายเพิ่ม หากผู้ป่วยแผลไม่มีเนื้อตาย การติดเชื้อหายแล้ว แพทย์จะทำศัลยกรรมปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดแผล ต่อไป

นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เข้ามารับการรักษาในทันที จึงทำให้เกิดการลุกลามของบาดแผล และอาจติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการถูกแมวข่วนได้ ทั้งนี้สาเหตุการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนว่า หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล อย่าชะล่าใจ ควรรีบปฐมพยาบาล ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที

นอกจากนี้ ขอให้กักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ ที่สำคัญหลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด

สำหรับการป้องกันโรค ขอให้เจ้าของพาสุนัขของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ระยะฟักตัวของโรคมีตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็น 1 ในโรคที่ต้องเฝ้าระวัง และรายงานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 หากพบมีผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที

ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกรายหากติดเชื้อและมีการแสดงอาการแล้ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook