กลืนข้าวปั้นเพราะก้างปลาติดคอ อันตรายหรือไม่?

กลืนข้าวปั้นเพราะก้างปลาติดคอ อันตรายหรือไม่?

กลืนข้าวปั้นเพราะก้างปลาติดคอ อันตรายหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนที่ชอบทานปลาคงต้องต่อสู้กับก้างปลาอยู่บ่อยๆ นะคะ แม้ว่าจะระแวดระวังเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็มีบางครั้งที่เจอก้างปลาระหว่างที่เคี้ยว และที่แย่กว่านั้นคือบางครั้งก็เผลอกลืนก้างปลาลงไปในคอด้วย และหลายครั้งก็รู้สึกถึงก้างปลาที่ติดคอ สร้างความลำบากกับประสบการณ์ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ให้เราเป็นอย่างมาก

ภูมิปัญญาไทยให้ปั้นข้าวเป็นก้อน แล้วกลืนลงไปทั้งก้อนโดยไม่ต้องเคี้ยว เพื่อให้ก้อนข้าวลากเอาก้างปลาลงไปในท้อง แต่วิธีนี้ได้ผลจริงหรือ และมีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบจากรายการ Happy and Healthy มาฝากกันค่ะ

 


กลืนข้าวปั้นทั้งก้อน ช่วยทำให้ก้างปลาที่ติดคอหลุดลงท้องไปได้?

คำกล่าวนี้ ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะการกลืนอาหารเหนียวๆ แข็งๆ หรือคำโตๆ เพื่อให้ก้างปลาหลุดลงไปในท้องนั้น ความเป็นจริงแล้วอาหารเหล่านั้นอาจดันให้ก้างปลาติดเข้าไปในเนื้อเยื่อของผนังในบริเวณที่ก้างปลาติดอยู่มากยิ่งขึ้น ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่เป็นวิธีที่เอาก้างปลาออกจากคออย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์

 

วิธีเอาก้างปลาที่ติดอยู่ในคอออกอย่างผิดๆ

ยังมีอีกหลายวิธีผิดๆ ที่เราใช้เพื่อเอาก้างปลาออกจากคอ เช่น บีบมะนาวเข้าไปในคอโดยตรง กลั้วคอด้วยน้ำส้มสายชู กลั้วคอหรือดื่มน้ำอุ่นในปริมาณมากๆ เพื่อให้ก้างปลาอ่อนนิ่ม ทุกวิธีที่กล่าวมานั้นไม่ช่วยให้ก้างปลาหลุดออกมาได้เลย หนำซ้ำยังสร้างความระคายเคืองให้กับผนังภายในลำคอมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เพราะก้างปลาเป็นกระดูกแข็งที่มีปลายแหลม มีส่วนประกอบหลักอย่าง แคลเซียม ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยกรดอ่อน หรือน้ำอุ่น ในระยะเวลาอันสั้นแค่นั้นได้

 

อันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากมีก้างปลาติดคอ

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วก้างปลามักติดคออยู่บริเวณใกล้ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น ฝาปิดกล่องเสียง และในหลอดอาหาร เราจะมีอาการเจ็บบริเวณที่มีก้างตำ ยิ่งกลืนยิ่งเจ็บ และหากมีก้างติดอยู่นานหลายวัน อาจเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ เป็นหนอง และมีไข้ตามมาได้ บางรายอาจพบเลือดปนออกมากับน้ำลายได้ด้วย หากยิ่งปล่อยไว้นาน อาจมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น หลอดอาหารทะลุ มีหนองลามเข้าไปในช่องอก หรือเยื่อหุ้มหัวใจ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ดังนั้น หากมีปัญหาก้างปลาติดคอ เอาไม่ออก ควรรีบพบแพทย์หู คอ จมูก ซึ่งเป็นผู้ที่จัดการปัญหาก้างปลาติดคอได้ดีที่สุด

 

ก้างปลาติดคอ ควรทำอย่างไร?

เมื่อต้องให้แพทย์หู คอ จมูก ช่วยเหลือ แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นกล้องตรวจพิเศษแบบหักมุม ที่จะช่วยทำให้เห็นก้างปลาที่ติดอยู่ในลำคอได้อย่างชัดเจน และง่ายขึ้นมาก

ถ้าบริเวณที่ก้างปลาติดอยู่เหนือกล่องเสียง และลูกกระเดือก แพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีความโค้งงอหลากหลายมุมคีบออกมาได้ แต่ถ้าก้างปลาติดบริเวณที่ต่ำกว่าลูกกระเดือก แพทย์อาจต้องใช้วิธีเอกซเรย์ และผ่าตัดเข้ามาช่วย

 

นอกจากก้างปลาแล้ว ปัจจุบันยังพบ “ลวดเย็บกระดาษ” ติดอยู่ในลำคอมากขึ้นด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องทานปลาอย่างระมัดระวังแล้ว ก่อนรับประทานอาหาร ควรระมัดระวังลวดเย็บกระดาษที่อาจติดมากับบรรจุภัณฑ์ของอาหารด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook